วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

บทความวิจัยเรื่องการศึกษาทัศนคติ ความคาดหวังและความพึงพอใจของยุวชน และของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่

การศึกษาทัศนคติ ความคาดหวังและความพึงพอใจของยุวชน และของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่
THE STUDY OF ATTITUDES, EXPECTATIONS AND SATISFACTION OF GRASSROOTS AND PARENTS IN  ACADEMY FOOTBALL PROJECT
สุกิจจา  จันทะชุม, กษม  ชนะวงศ์, ฐานิกา  บุษมงคล, วีณา  อิศรางกูร ณ อยุธยา, ทิพวัลย์  ด่านสวัสดิกุล,       ฉัตรพงศ์  พีระวราสิทธิ์, คณิตลดา ณะศรี, อ้อมทิพย์ ร่มพฤกษ์, ประเณจตรี คงงาม และ รวีวรรณ พินิจรัมย์, วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย, 2554
บทคัดย่อ
ทัศนคติ  คือ  ความรู้สึกในการประเมินว่าชอบ หรือไม่ชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง    ซึ่งทัศนคตินั้นจะเป็นส่วนสำคัญที่จะกำหนด หรือผลักดันในแต่ละบุคคลนั้นเกิดพฤติกรรม หรือการกระทำที่สอดคล้องกับทัศนคติและความคาดหวังที่แต่บุคคลนั้นมีอยู่ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของยุวชนต่อกีฬาฟุตบอล  ทัศนคติและความคาดหวังของยุวชนต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  ทัศนคติและความคาดหวังของผู้ปกครองต่อยุวชนที่เข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่และความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่   โดยใช้การศึกษาเชิงสำรวจและการศึกษาเชิงคุณภาพ  กลุ่มตัวอย่างเป็นยุวชนที่เข้าร่วมโครงการฟุตบอล อะคาเดมี่ บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย จำนวน 68 คน และ ผู้ปกครองที่พาบุตรหลานหรือนักเรียนในสังกัดมาเข้าร่วมโครงการ ในวันที่ 9 มกราคม 2554 ณ ศูนย์ฝึกฟุตบอล อะคาเดมี่ บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย   จำนวน 21 คน เลือกโดยการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง   เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม และ focus group
          ลักษณะทั่วไปของยุวชน เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง อายุ 8-17 ปี ส่วนใหญ่กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มาจากโรงเรียนในเขตจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง ผลการศึกษาด้านทัศนคติพบว่า ยุวชนชอบกีฬาฟุตบอล เนื่องจาก ทำให้ร่างกายแข็งแรง  มีความสุขและภาคภูมิใจที่ได้เล่นฟุตบอล   ผลการศึกษาด้านความคาดหวังต่ออนาคตของตนเองพบว่า ยุวชนอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพในสังกัดสโมสรขอนแก่นเอฟซี  และ สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดมากที่สุด  และใฝ่ฝันอยากเป็นนักฟุตบอลระดับชาติ       
ลักษณะทั่วไปของผู้ปกครอง ส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่ของยุวชน เพศชายมากกว่าเพศหญิง  อายุมากกว่า 36  ปี  มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 15,00120,000 บาท สถานภาพสมรสคู่  ผลการศึกษาด้านทัศนคติของผู้ปกครองต่อกีฬาฟุตบอล พบว่า ทั้งหมดชอบกีฬาฟุตบอล  ผู้ปกครองส่วนใหญ่ มีความเห็นว่าการเล่นฟุตบอลมีประโยชน์ต่อยุวชนในด้านสุขภาพร่างกายมากที่สุด และ สบายใจที่ยุวชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  ห่างไกลยาเสพติด มีความสุขที่ได้พายุวชนมาเล่นบอล   ผลการศึกษาด้านความคาดหวังของผู้ปกครองต่อยุวชนด้านกีฬาฟุตบอล พบว่าผู้ปกครองทั้งหมดคาดหวังให้ยุวชนเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพในอนาคต  และผู้ปกครองส่วนใหญ่ใฝ่ฝันอยากให้ยุวชนเป็นนักฟุตบอลระดับโลก ผู้ปกครองส่วนใหญ่พึงพอใจมากที่สุดต่อโครงการ
ผลการศึกษา สามารถนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่ต่อไป

คำสำคัญ  ทัศนคติ, ความคาดหวัง,  ความพึงพอใจ, ยุวชน, ผู้ปกครอง, โครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่


ABSTRACT
Attitude is the sense in evaluating whether one likes or dislikes. Attitude, it is important to determine whether a person is driving the behavior that are consistent with the attitude and the expectation that the person exists. This study aims to study the attitudes and expectations of the youth. Also, it aims to study the attitudes, expectations and satisfaction of parents to the football training with the Academy. The research methodology is of the mixed methodologies. Those are the survey and qualitative studies. This study surveyed a representative sample of the youth participating in the Bangkok Glass-College of Asian Scholars Football Academy Project (BG-CAS Football Academy Project). The total number of 68 students. The number of parents who take their children under the average ages to join this Project was 21. The sample was selected by using a random sample-specific. The instrument used was a questionnaire. A qualitative study used was focus group techniques.
The general characteristics of the youths are more males than females. The ages of the students are ranged from 8-17 years old. Most of them are studying in secondary school classes of the schools in the province and neighboring provinces. From the study finding, the youth like football because their body becomes healthy.   They are happy and proud to play football. They think that playing football is the most healthful. They want to be a professional football player under Khon Kaen FC and Manchester United FC and they also dream of being a football player at the national level.
About the general characteristics of the parents, most of them are the parents of the youth. They are more males than females whose ages are above 36 years. The average monthly incomes are ranged from 15,001 to 20,000 baht. They are all marital partner. All parents expect the youth to be athletes and professional football players in the future. They see the importance of football to develop the youth’s body. They dream of their youth to become a world-class footballers and a football player at the national level.
The results can be used as guidelines in the further project development.

Keyword: attitude, expectation, satisfaction, grassroot, parents, academy football project

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ทัศนคติ  คือ  ความรู้สึกในการประเมินว่าชอบ หรือไม่ชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง    ซึ่งทัศนคตินั้นจะเป็นส่วนสำคัญที่จะกำหนด หรือผลักดันในแต่ละบุคคลนั้นเกิดพฤติกรรม หรือการกระทำที่สอดคล้องกับทัศนคติและความคาดหวังที่แต่บุคคลนั้นมีอยู่ กีฬาฟุตบอลเข้ามาสู่ประเทศไทยนับตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6   กีฬาฟุตบอล เป็นกีฬาที่นิยมที่สุดในประเทศ หลังจากการแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก  ฤดูกาล 2009 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมการแข่งขันในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น  ทำให้ฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด  ทำให้เยาวชนไทยและผู้ปกครองเห็นความชัดเจนของเส้นทางสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพในประเทศไทย  เยาวชนไทยมีความสนใจใฝ่ฝันและมีความมุ่งมั่นอยากจะเป็นนักเตะอาชีพมากขึ้น  ในขณะเดียวกันโรงเรียนและผู้ปกครองมีส่วนสนับสนุนส่งเสริมให้เยาวชนรักและชอบกีฬาฟุตบอล   โรงเรียนต่างๆทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนากีฬาฟุตบอล   จึงมีการตั้งอะคาเดมี่ (Academy) หลายแห่ง แต่จากการทบทวนวรรณกรรมที่ผ่านมา คณะผู้วิจัยไม่พบว่ามีผู้ใดศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยุวชนและ ผู้ปกครองของยุวชน ที่เข้าร่วมการฝึกฟุตบอลอะคาเดมี่   คณะผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของยุวชนต่อกีฬาฟุตบอล  ทัศนคติและความคาดหวังของยุวชนต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  ทัศนคติและความคาดหวังของผู้ปกครองต่อยุวชนที่เข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่และความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่ เพื่อเป็นแนวทางในการนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาสถาบันฝึกสอนกีฬาฟุตบอลอะคาเดมี่ ให้มีประสิทธิภาพและสามารถผลิตนักฟุตบอลอาชีพในระดับท้องถิ่นและระดับสากลในอนาคต
         
วัตถุประสงค์ในการวิจัย
1. เพื่อศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของยุวชนต่อกีฬาฟุตบอล
2. เพื่อศึกษาทัศนคติและความคาดหวังโครงของยุวชนต่อการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่
3. เพื่อศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของผู้ปกครองต่อยุวชนที่เข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่
4. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่

วิธีการวิจัย
การศึกษาครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของยุวชนต่อกีฬาฟุตบอล  เพื่อศึกษาทัศนคติและความคาดหวังโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  เพื่อศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของผู้ปกครองต่อยุวชนที่เข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  โดยใช้การวิจัยเชิงสำรวจและการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับประชากร กลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล การสร้างเครื่องมือในการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนี้

กลุ่มตัวอย่าง
        กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นผู้ปกครองและยุวชนที่เข้าร่วมโครงการฟุตบอล อะคาเดมี่ บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย  ในวันที่ 9 มกราคม 2554 ณ ศูนย์ฝึกฟุตบอล อะคาเดมี่ บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย ดังนี้
1. การวิจัยเชิงสำรวจ ศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของยุวชนต่อกีฬาฟุตบอล  เพื่อศึกษาทัศนคติและความคาดหวังโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  เพื่อศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของผู้ปกครองต่อยุวชนที่เข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  บางกอกกล๊าส –บัณฑิตเอเซีย  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้มี 2 กลุ่ม คือ 1)ยุวชน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นยุวชนที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 68 คน ใช้วิธีเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง 2) ผู้ปกครอง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นผู้ปกครองที่พาบุตรหลานหรือนักเรียนในสังกัดมาเข้าร่วมโครงการ จำนวน 21 คน ใช้วิธีเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง
          2. การวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก(In-depth interview) โดยใช้เทคนิคการสนทนากลุ่ม (Focus group) แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1)ยุวชน เป็นยุวชนที่เข้าร่วมโครงการ เลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจงมา 10 คน จากทั้งหมด 68 คน 2)ผู้ปกครอง เป็นผู้ปกครองที่พาบุตรหลานหรือนักเรียนในสังกัดมาเข้าร่วมโครงการ เลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจงมา 10 คน จาก จำนวน 21 คน

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย                                                                                            
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม (Questionnaire) และแบบสัมภาษณ์เชิงลึก   (In-depth interview) มีขั้นตอนในการสร้างเครื่องมือโดย คณะผู้วิจัย ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับสาระสำคัญจากเอกสาร ตำรา วารสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดโครงสร้างของแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์คณะผู้วิจัยสร้างแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์  แล้วนำเสนอให้ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน     ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา (Content Validity)  จากนั้นนำแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ที่ได้ไปทดสอบ(try out) กับยุวชนในโครงการ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 15 ราย ได้ค่าความเชื่อมั่น 0.86 จึงนำแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ที่ได้ ไปรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย 

วิธีเก็บรวบรวมข้อมูล
          คณะผู้วิจัยดำเนินการชี้แจงรายละเอียดของโครงการ และสอบถามความสมัครใจของกลุ่มตัวอย่าง แล้วแจกแบบสอบถามด้วยตนเอง ให้ยุวชน จำนวน 68 ชุด และผู้ปกครอง 21 ชุด รอรับแบบสอบถามคืนพร้อมตรวจสอบความสมบูรณ์    ได้รับแบบสอบถามกลับคืนทุกฉบับ คิดเป็นร้อยละ 100 นำแบบสอบถามที่ได้รับคืนมาดำเนินการวิเคราะห์ สรุปผลตามขั้นตอนของการวิจัย
ส่วนแบบสัมภาษณ์ ใช้การสนทนากลุ่ม(Focus group) โดยผู้วิจัย 1 ท่าน เป็นผู้ดำเนินการและผู้ร่วมวิจัยอีก 2 ท่านแบ่งเป็น note taker 1 ท่านทำหน้าที่บันทึกการสนทนา และ ผู้สังเกตการณ์ 1 ท่าน และมีการใช้เทปบันทึกเสียงการสนทนา

สถิติและการวิเคราะห์ข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัย   ดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้  แบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไป ทัศนคติ  ความคาดหวัง และความพึงพอใจ  เป็นแบบตรวจสอบรายการ (Checklist) และ คำถามปลายปิด   การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติค่าเฉลี่ย ร้อยละ(Percentage) และการแจกแจงความถี่ (Frequency)   แบบสัมภาษณ์  ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis)   เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์กับผลการวิจัยเชิงปริมาณ

ผลการวิจัย
          คณะผู้วิจัยสามารถสรุปผลการวิจัยในประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
          1. ผลการศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของยุวชนต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่ บางกอกกล๊าส –บัณฑิตเอเซีย  
ข้อมูลทั่วไป  พบว่า ยุวชนส่วนใหญ่เป็นเพศชายจำนวน 64 คนคิดเป็น ร้อยละ 94.12 และเพศหญิงจำนวน 4 คน คิดเป็นร้อยละ 5.88  อายุอยู่ระหว่าง 7-17 ปี ค่าเฉลี่ย 12.36  ปี  น้ำหนัก 19-80 กิโลกรัม เฉลี่ย 42.72 กิโลกรัม  ส่วนสูง 101-175 เซนติเมตร เฉลี่ย 152.68 เซนติเมตร ส่วนใหญ่มาจากโรงเรียนขามแก่นนคร จำนวน 17 คน คิดเป็น ร้อยละ  25  ยุวชนมีประสบการณ์ในการเล่นฟุตบอล 0-12 ปี ค่าเฉลี่ย 3.59 ปี ใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ในการเล่นฟุตบอลจำนวน 64 คนคิดเป็นร้อยละ 94.12  ส่วนใหญ่ใช้เวลาตอนเย็นในการเล่นฟุตบอล จำนวน  46 คน คิดเป็นร้อยละ 67.65  ใช้ระยะเวลาการเล่นฟุตบอลในแต่ละวัน 3 ชั่วโมง จำนวน 38 คน คิดเป็นร้อยละ 55.88    ส่วนใหญ่รู้จักสโมสรฟุตบอลขอนแก่น จำนวน 67 คน คิดเป็นร้อยละ 98.53  ส่วนใหญ่รู้จักโครงการวิชั่นขอนแก่น จำนวน 48 คน คิดเป็น ร้อยละ 70.59
          ทัศนคติต่อกีฬาฟุตบอล พบว่ายุวชนชอบกีฬาฟุตบอลจำนวน 68 คน คิดเป็นร้อยละ 100  ส่วนใหญ่ชอบกีฬาฟุตบอลเนื่องจาก ทำให้ร่างกายแข็งแรง มีจำนวน 21 คน คิดเป็นร้อยละ 30.88 นักฟุตบอลไทยที่ยุวชนชื่นชอบมากที่สุดคือ สุธี สุขสมกิจ จำนวน 15 คน คิดเป็นร้อยละ 22.06 นักฟุตบอลต่างประเทศที่ยุวชนชื่นชอบมากที่สุดคือ โรนัลโด้  จำนวน 15 คน คิดเป็นร้อยละ 22.06 สโมสรฟุตบอลไทยที่ยุวชนชื่นชอบมากที่สุด คือ  ขอนแก่นเอฟซี จำนวน 37 คนคิดเป็นร้อยละ 54.41  สโมสรฟุตบอลต่างประเทศที่ยุวชนชื่นชอบมากที่สุดคือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จำนวน 27 คน คิดเป็นร้อยละ 39.71 ยุวชนทั้งหมดมีความสุขและภาคภูมิใจที่ได้เล่นฟุตบอล  จำนวน 68 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ยุวชนมีความเห็นว่า การเล่นฟุตบอลมีประโยชน์ด้านสุขภาพร่างกายมากที่สุด (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)  จำนวน 60 คน คิดเป็นร้อยละ 38.22  ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าการเล่นฟุตบอลทำให้ผลการเรียนเท่าเดิม จำนวน 36 คน คิดเป็นร้อยละ 52.94
ความคาดหวังของตนเองต่อกีฬาฟุตบอล พบว่ายุวชน 68 คน คิดเป็นร้อยละ 100 อยาก
เป็นนักฟุตบอลอาชีพ  ใฝ่ฝันอยากเป็นนักฟุตบอลระดับชาติ 38 คน คิดเป็นร้อยละ 55.88   ยุวชนมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพในสังกัดสโมสรในประเทศไทยมากที่สุดคือ สโมสรขอนแก่นเอฟซี  จำนวน 29 คน คิดเป็นร้อยละ 42.65  ยุวชนมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพในสังกัด สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มากที่สุด จำนวน 26 คน คิดเป็นร้อยละ  38.23 
ความคาดหวังต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเชีย พบว่า ยุวชนส่วนใหญ่เคยเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซียจำนวน 45 คน คิดเป็นร้อยละ66.18   และ เคยเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่ของที่อื่น จำนวน 37 คน คิดเป็นร้อยละ 54.41 อะคาเดมี่ที่เคยเข้าร่วมมากที่สุดคือ ขามแก่นนครอะคาเดมี่ จำนวน 17 คน คิดเป็นร้อยละ 45.95  ยุวชนรับทราบข่าวสารของโครงการผ่านครู จำนวน 31 คน ร้อยละ 34.44   (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)   แรงจูงใจในการเข้าฝึกอบรมที่มีผู้ตอบมากที่สุดคือ ต้องการเล่นฟุตบอลให้เก่งๆ จำนวน 40 คน คิดเป็นร้อยละ 58.82 ยุวชนมีความคิดเห็นว่าโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซียมีส่วนช่วยให้ตนเองเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้      จำนวน 66 คน คิดเป็นร้อยละ 97.06    
         2. ผลการศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส – บัณฑิตเอเซีย
         ข้อมูลทั่วไป พบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นเพศชาย 15 คน คิดเป็นร้อยละ 71.40 และเพศหญิง 6 คน คิดเป็นร้อยละ 28.60  ส่วนใหญ่อายุมากกว่า 36  ปีมีจำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ 52.40 ผู้ปกครองส่วนใหญ่ มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 15,001 – 20,000 บาท จำนวน 7 คน คิดเป็นร้อยละ 33.30  ส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรสคู่ จำนวน 15 คน คิดเป็นร้อยละ 71.40 ส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่ ของยุวชนจำนวน 15 คน คิดเป็นร้อยละ 71.40  
ทัศนคติของผู้ปกครองต่อกีฬาฟุตบอล พบว่า ผู้ปกครองทั้งหมดชอบกีฬาฟุตบอลจำนวน 21 คน คิดเป็นร้อยละ 100 เหตุผลที่ชอบกีฬาฟุตบอล คือ ทำให้ร่างกายแข็งแรง มีผู้ตอบจำนวน 9 คน คิดเป็นร้อยละ 42.86  เคยเล่นฟุตบอล 15 คน คิดเป็นร้อยละ 71.40   ผู้ปกครองเคยประสบความสำเร็จสูงสุดจากการเล่นฟุตบอลในระดับนักกีฬาสีของโรงเรียน จำนวน 9 คน คิดเป็น ร้อยละ 42 ผู้ปกครองทุกคนตอบว่า มีความสุขและภาคภูมิใจในการเล่นฟุตบอล นักฟุตบอลไทยที่ชื่นชอบมากที่สุด ซิกโก้  เกียรติศักดิ์  เสนาเมืองจำนวน 7 คน ร้อยละ 33.34   นักฟุตบอลต่างประเทศที่ผู้ปกครองชื่นชอบมากที่สุด คือ เดวิด แบ็คแฮม จำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ 52.38 สโมสรฟุตบอลไทยที่ผู้ปกครองชื่นชอบมากที่สุด คือสโมสรขอนแก่นเอฟซี จำนวน 8 คน คิดเป็นร้อยละ 38.10 สโมสรฟุตบอลต่างประเทศที่ชื่นชอบมากที่สุด คือสโมสรลิเวอร์พูล จำนวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 66.67 ผู้ปกครองมีความเห็นว่าการเล่นฟุตบอลมีประโยชน์ต่อยุวชนในด้านสุขภาพร่างกายมากที่สุด (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)  จำนวน 18 คน คิดเป็นร้อยละ 25.35 ประโยชน์ที่ผู้ปกครองได้รับจากการเล่นฟุตบอลของยุวชนมากที่สุด คือ มีความสุขที่ได้พาลูกมาเล่นบอลจำนวน 6 คน คิดเป็นร้อยละ 28.57   ผู้ปกครองสนับสนุนยุวชนเกี่ยวกับการเล่นฟุตบอล (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ด้านเวลามากที่สุด จำนวน 15 คน คิดเป็นร้อยละ 25.00 ผู้ปกครองสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านกีฬาฟุตบอล 5,000 -9999บาทต่อปี จำนวน 10 คน คิดเป็นร้อยละ 47.62 
ความคาดหวังของผู้ปกครองต่อยุวชนด้านกีฬาฟุตบอล พบว่า ผู้ปกครองทั้งหมด 21 คน คิดเป็นร้อยละ 100 คาดหวังให้ยุวชนเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ สโมสรฟุตบอลในประเทศไทยที่ผู้ปกครองคาดหวังให้ยุวชนเข้าสังกัดมากที่สุดคือ สโมสรบางกอกกล๊าส  จำนวน 7 คน คิดเป็นร้อยละ 33.33  สโมสรฟุตบอลต่างประเทศที่คาดหวังให้ยุวชนเข้าสังกัดมากที่สุด คือ สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ  52.38 ผู้ปกครองคาดหวังว่ายุวชนจะมีพัฒนาการด้านร่างกายมากที่สุด(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) จำนวน 19 คน คิดเป็นร้อยละ 26.39  ผู้ปกครองใฝ่ฝันอยากให้ยุวชนเป็นนักฟุตบอลระดับโลก จำนวน 12 คน คิดเป็นร้อยละ 57.14
ความคาดหวังของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย พบว่า ผู้ปกครองเคยเข้าร่วมโครงการนี้ จำนวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 66.67  ไม่เคยเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่ของที่อื่นจำนวน 12 คน คิดเป็น ร้อยละ 57.14 แหล่งข้อมูลที่ผู้ปกครองรับทราบข่าวสารของโครงการอบรมฟุตบอล       อะคาเดมี่ บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)  คือ จากครู จำนวน 6 คน คิดเป็นร้อยละ 20.00  เหตุผลที่ส่งยุวชนมาเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอล       อะคาเดมี่ บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย เพราะความเชื่อมั่นในผู้ฝึกสอน จำนวน 17 คน คิดเป็นร้อยละ 38.64 ผู้ปกครองร้อยละ 100 เชื่อมั่นว่าโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่ บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย มีส่วนช่วยให้บุตรหลานเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้ ผู้ปกครองร้อยละ 100 มีความสนใจให้บุตรหลานมาเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเชีย ผู้ปกครองร้อยละ 100 มีปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญที่สุดคือด้านเวลา ผู้ปกครองมีความเห็นว่าการฝึกฟุตบอล ไม่มีผลกระทบต่อการเรียน จำนวน 16 คน คิดเป็นร้อยละ 76.20  ผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย พบว่า พึงพอใจมากที่สุดจำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ 52.40 พอใจมาก จำนวน 10 คน คิดเป็นร้อยละ 47.60

อภิปรายผล
จากผลการวิจัยเรื่อง การศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของยุวชน และ ศึกษาทัศนคติ   ความคาดหวัง  และความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  บางกอกกล๊าส –บัณฑิตเอเซีย     มีประเด็นที่ควรนำมาอภิปรายดังนี้
      ข้อมูลทั่วไปของยุวชน ยุวชนส่วนใหญ่เป็นยุวชนเพศชายมากกว่าเพศหญิง เนื่องจากผู้เข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  บางกอกกล๊าส –บัณฑิตเอเซีย     ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย  ยุวชนส่วนใหญ่เป็นกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1   อยู่ในช่วงชั้นที่ 3  เนื่องจากเป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  บางกอกกล๊าส –บัณฑิตเอเซีย ยุวชนส่วนใหญ่  มาจากโรงเรียนในเขตจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง เนื่องจากเป็นเครือข่ายของโครงการ อบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  บางกอกกล๊าส –บัณฑิตเอเชีย
         ทัศนคติของยุวชนต่อกีฬาฟุตบอล พบว่ายุวชนทั้งหมดชอบกีฬาฟุตบอล เนื่องจาก ทำให้ร่างกายแข็งแรง     สอดคล้องกับ เครชและครัทช์ฟิลด์ (Krech and Crutchfield, 1948) ที่กล่าวว่า ทัศนคติเป็นส่วนสำคัญที่จะกำหนด หรือผลักดันในแต่ละบุคคลนั้นเกิดพฤติกรรม หรือการกระทำที่สอดคล้องกับทัศนคติที่แต่ละบุคคลนั้นมีอยู่    การที่ยุวชนสนใจเล่นกีฬาฟุตบอลนั้นก็เนื่องจากมีทัศนคติเชิงบวกกับกีฬาฟุตบอลนั่นเอง    สโมสรฟุตบอลไทยที่ยุวชนชื่นชอบมากที่สุด คือ  ขอนแก่นเอฟซี ซึ่งสอดคล้องกับวิกิพีเดีย ที่กล่าวว่า  ฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกส์ 2009 ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม  ทำให้ยุวชนมีความใฝ่ฝันที่จะเล่นฟุตบอลอาชีพในสังกัดสโมสรจังหวัดหรือท้องถิ่นของตนเอง ยุวชนทั้งหมด มีความสุขและภาคภูมิใจที่ได้เล่นฟุตบอล  สอดคล้องกับผลการทำ focus group ซึ่งยุวชนตอบว่า ชอบฟุตบอลและได้ขอให้ผู้ปกครองนำมาสมัครโครงการฯนี้
          ความคาดหวังของยุวชนต่อกีฬาฟุตบอล พบว่ายุวชนทั้งหมด อยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ   ใฝ่ฝันอยากเป็นนักฟุตบอลระดับชาติ  สอดคล้องกับผลการทำ focus group ยุวชน 5 ใน 10  มีความใฝ่ฝันว่าในอนาคตจะได้เป็นนักฟุตบอลทีมชาติ ส่วนที่เหลือคิดว่าอยากเล่น ไม่ได้คิดว่าจะต้องได้เป็นนักฟุตบอลทีมชาติในอนาคต ยุวชนส่วนใหญ่  มีความใฝ่ฝันจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพในสังกัดสโมสรในประเทศไทยมากที่สุดคือ สโมสรขอนแก่นเอฟซี    สอดคล้องกับสโมสรขอนแก่นเอฟซีเป็นสโมสรที่ยุวชนส่วนใหญ่ชื่นชอบที่สุด สโมสรต่างประเทศที่ยุวชนส่วนใหญ่ ใฝ่ฝันจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพในสังกัดมากที่สุดคือ สโมสรแมนยูไนเต็ด   สอดคล้องกับสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ชื่นชอบที่สุด
          ความคาดหวังของยุวชนต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซียพบว่า ยุวชนส่วนใหญ่ เคยเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย เนื่องจากทางโครงการฯ   ได้จัดทำฐานข้อมูลของยุวชนสำหรับติดต่อและแจ้งข่าวสาร ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ เคยเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่ของที่อื่น เนื่องจากมีความสนใจในการเล่นฟุตบอลเป็นทุนเดิม ยุวชนส่วนใหญ่ รับทราบข่าวสารของโครงการฯ ผ่านครู ยุวชนส่วนใหญ่มีความเห็นว่าแรงจูงใจในการเข้าฝึกอบรมในโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย คือต้องการเล่นฟุตบอลให้เก่งๆ ยุวชนส่วนใหญ่  มีความเห็นว่า การเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย มีส่วนช่วยให้ตนเองเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้ สอดคล้องกับผลการทำ focus group  ซึ่งยุวชน ตอบว่า การเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่ บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย มีประโยชน์ได้ออกกำลังกาย ได้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเล่นฟุตบอล และข้อสำคัญคือได้เพื่อน  ยุวชนทั้งหมด มีความสนใจจะเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซียในครั้งต่อไปและผลจากการทำ focus group ยุวชนส่วนใหญ่ 8 ใน 10  มีความเห็นว่าการอบรมนี้ดีแล้ว และอยากให้มีการต่อเนื่องเพื่อตนเอง จะได้มาเข้าร่วมต่อไป ยุวชนส่วนใหญ่ มีความเห็นว่า การจัดโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ มีความเหมาะสมมากที่สุด ทั้งหมดมีความสนใจเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่บางกอกกล๊าส – บัณฑิตเอเซียในอนาคต   
ข้อมูลทั่วไปของผู้ปกครอง พบว่า ยุวชนส่วนใหญ่ เป็นเพศชาย มากกว่า เพศหญิง   ยุวชนส่วนใหญ่ อายุมากกว่า 36  ปี ส่วนใหญ่ มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 15,001 – 20,000 บาท ส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรสคู่   ส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่ของยุวชน
ทัศนคติของผู้ปกครองต่อกีฬาฟุตบอล พบว่าผู้ปกครองทั้งหมดชอบกีฬาฟุตบอล  เนื่องจาก 
ทำให้ร่างกายแข็งแรงและ ส่วนใหญ่มีความสุขและภาคภูมิใจในการเล่นฟุตบอล ส่วนใหญ่เคยเล่นฟุตบอล และ เคยประสบความสำเร็จสูงสุดจากการเล่นฟุตบอลในระดับเป็นนักกีฬาสีของโรงเรียน      สอดคล้องกับ กอร์ดอน อัลพอร์ท (Gordon Allport, 1975) ที่กล่าวว่า การเกิดทัศนคติเกิดจากการเลียนแบบ หรือรับเอาทัศนคติของผู้อื่นมาเป็นของตน เช่น เด็กอาจรับทัศนคติของบิดามารดา หรือ ครูที่ตนนิยมชมชอบมาเป็นทัศนคติของตนได้  ดังจะเห็นได้ว่าผู้ปกครองชอบเล่นฟุตบอลและเคยเป็นนักฟุตบอล จึงส่งผลให้ยุวชนชอบเล่นฟุตบอลด้วยเช่นกัน        
ความคาดหวังของผู้ปกครองต่อยุวชนด้านกีฬาฟุตบอล พบว่า ผู้ปกครองทั้งหมด คาดหวัง
ให้ยุวชนเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพในระดับโลก รองลงมาใฝ่ฝันอยากให้ยุวชนเป็นนักฟุตบอลระดับชาติ  สอดคล้องกับผลการทำ focus group ผู้ปกครอง6 ใน 10 กล่าวว่า มีความใฝ่ฝันอยากให้บุตรหลานได้เป็นฟุตบอลมืออาชีพ ติดทีมชาติไทย ส่วน 4 ใน 10  กล่าวว่าไม่ได้คิดอะไรขอให้ลูกได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้ออกกำลังกาย และมีสุขภาพดีมีความรู้เรื่องวิธีการเล่นฟุตบอลที่ถูกต้องและเทคนิคต่างๆ
ความคาดหวังของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย พบว่า เหตุผลที่ผู้ปกครองส่งยุวชนมาเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่ บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย เพราะความเชื่อมั่นในผู้ฝึกสอน สอดคล้องกับยุวชนส่วนใหญ่ที่มีความเห็นว่า มาอบรมแล้วไม่ผิดหวัง และพอใจอาจารย์ผู้สอน  
ความพึงพอใจต่อโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย ผู้ปกครองส่วนใหญ่พึงพอใจมากที่สุดต่อโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย  สอดคล้องกับผลการทำ focus group ซึ่งผู้ปกครอง10 ใน 10  มีความพอใจที่ได้นำลูกมาเข้าโครงการอบรมฯ   และ 10 ใน10 กล่าวว่า โครงการฯนี้มีประโยชน์มาก ช่วยให้บุตรหลานใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  ไม่อยากให้ลูกหลานติดเกมส์ และได้เพื่อน

สรุปผล
คณะผู้วิจัยสามารถสรุปผลที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการศึกษาได้ดังนี้ 
1.ทัศนคติและความคาดหวังของยุวชนต่อกีฬาฟุตบอล  ยุวชนทั้งหมดชอบกีฬาฟุตบอล เนื่องจากทำให้ร่างกายแข็งแรง    ยุวชนมีความคาดหวังว่าตนเองจะได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพในระดับชาติ และมีความใฝ่ฝันที่จะเล่นฟุตบอลอาชีพในสังกัดสโมสรจังหวัดหรือท้องถิ่นของตนเอง   ยุวชนทั้งหมด มีความสุขและภาคภูมิใจที่ได้เล่นฟุตบอล  
2.ทัศนคติและความคาดหวังของยุวชนต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  การเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย มีส่วนช่วยให้ตนเองเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้และยังมีประโยชน์ได้ออกกำลังกาย ได้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเล่นฟุตบอล และข้อสำคัญคือได้เพื่อน
3.ทัศนคติและความคาดหวังของผู้ปกครองต่อยุวชนที่เข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอล      
อะคาเดมี่ ผู้ปกครองทั้งหมดชอบกีฬาฟุตบอล  เนื่องจาก ทำให้ร่างกายแข็งแรงและ ส่วนใหญ่มีความสุขและภาคภูมิใจในการเล่นฟุตบอล  ผู้ปกครองทั้งหมด คาดหวังให้ยุวชนเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพในระดับโลก รองลงมาใฝ่ฝันอยากให้ยุวชนเป็นนักฟุตบอลระดับชาติ
4.ความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่ ผู้ปกครองส่วนใหญ่พึงพอใจมากที่สุดต่อโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย

ข้อเสนอแนะสำหรับการนำผลการวิจัยไปใช้
          1.ควรมีการจัดโครงการโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มเติมในช่วงเวลาวันเสาร์-อาทิตย์ และช่วงเวลาปิดเทอม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการฝึก การพัฒนาทักษะ ความแข็งแกร่งของร่างกาย และการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ อันจะนำมาซึ่งความห่างไกลยาเสพติด และแก้ปัญหาการติดเกมส์
2.ควรเปิดสนามให้ใช้ในวันธรรมดาเพื่อยุวชนจะได้มาฝึกซ้อมและ ควรมีการพัฒนาสนามให้มีความพร้อม สามารถรองรับการฝึกซ้อมของยุวชน เช่น การติดสปอร์ตไลต์ที่บริเวณสนามเพื่อให้มีแสงสว่างเพียงพอ เป็นต้น

ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป
           1.ควรมีการสำรวจช่องทางสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และตอบสนองความต้องการของผู้ปกครองมากที่สุด เพื่อให้การสื่อสารข่าวสารของโครงการฯมีประสิทธิภาพและได้รับความพึงพอใจมากที่สุด
           2.ควรมีการศึกษาประสิทธิภาพของโปรแกรมการฝึกอบรมของโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย  เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงโปรแกรมการฝึกต่อเนื่องต่อไปในอนาคต

กิตติกรรมประกาศ
งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิศิษย์เก่าโรงเรียนกุมภวาปีและนายกมล จันทะชุม

เอกสารอ้างอิง
1.คลังปัญญาไทย. กีฬาฟุตบอล. เผยแพร่ทาง www.panyathai.or.th.สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2554.
2.ชาติกล้า  ทรัพย์ทรงพล. (2554). ประวัติกีฬาฟุตบอล. เผยแพร่ทางhttp://kuka-academy.blogspot. com/  สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2554.
3.วินัย อินทรชิต. (2550). ระดับทักษะฟุตบอลของนักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในเขตพื้นที่การศึกษาอุทัยธานี ปีการศึกษา 2550. ปริญญานิพนธ์ กศ.. (พลศึกษา). กรุงเทพฯ :บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
4.วิรัช   ทิพม่อม. (2550). รายงานการพัฒนาประสิทธิภาพแผนการจัดการเรียนรู้  วิชาพลศึกษากลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษา และพลศึกษา เรื่อง ฟุตบอล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านขี้เหล็กเหล่าสมบูรณ์.
5.สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2549). หนังสือที่ระลึก 90 ปี สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์.
6.สุพิตร สมาหิโต, ชัย นิมากร และนนชัย ศานติบุตรกุล. (2547) . แนวทางการพัฒนานักกีฬาอาชีพภายใต้การสนับสนุนและส่งเสริมของภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเป็นระบบ: กรณีศึกษากีฬาเทนนิสอาชีพและกีฬาฟุตบอลอาชีพ. ได้รับทุนอุดหนุนวิจัยจากคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา  สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา.
7.Cushion, C .(2001). The coaching process in professional youth football:  Anethnography of    practice.ดุษฎีนิพนธ์. เผยแพร่ทาง http://bura.brunel.ac.uk/handle/2438/5138 สืบค้นเมื่อ 16มิถุนายน 2554.
8.Gordon Allport . (1975). การเกิดทัศนคติ. เผยแพร่ทาง http://www.novabizz.com. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2554.
9.Krech and Crutchfield. (1948). ทัศนคติ. เผยแพร่ทาง http://www.novabizz.com/NovaAce/Attitude.htm. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2554.

การเผยแพร่
งานวิจัยฉบับนี้ได้รับการตีพิมพ์ในรายงานสืบเนื่องจากการประชุม(แบบบรรยาย) ในการประชุมวิชาการระดับชาติราชภัฏสุราษฎร์ธานีวิจัย ครั้งที่ 7 "การวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น" (Area Based Research for Community Development) วันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2554 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จัดโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยและเครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน

ภาพประกอบ






 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น