วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

บทความวิจัยเรื่อง ความสุขของอาจารย์

ความสุขของอาจารย์
HAPPINESS OF TEACHER  

ฐานิกา  บุษมงคล1 , นุชรินทร์  ศรีตัน2, อริยา  ไชยดำรงค์3, ดวงดารา  อรปัญญา4 , วรรณศิริ  ฮามพิทักษ์5
1 อาจารย์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย
2-5 พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลขอนแก่น

บทคัดย่อ
ความสุขเป็นความรู้สึกองค์รวมที่สามารถส่งผ่านเครือข่ายทางสังคมได้ ดังนั้นการที่อาจารย์มีความสุข ย่อมนำไปสู่การจัดการเรียนการสอนที่ผู้เรียนมีความสุขได้  การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์  เพื่อวัดระดับความสุขของอาจารย์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย  กลุ่มตัวอย่างเป็นอาจารย์ประจำ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย  จังหวัดขอนแก่น จำนวน 44 คน  โดยใช้แบบทดสอบดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสมบูรณ์ 54 ข้อ (The New Thai Mental Health Indicator: TMHI-54)   ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการจำแนกระดับความสุขของกลุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบกับเกณฑ์ปกติ พบว่า อาจารย์ประจำ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย ส่วนใหญ่มีระดับความสุขมากกว่าคนทั่วไป

คำสำคัญ: ความสุข, อาจารย์

Abstract
Happiness is a sense of God and can pass through social networks. Happiness of teacher would lead to happy teaching and learning at the school. This study aimed to measure happiness levels of teachers at College of Asian Scholars. Khon Kaen. The sample was 44 teachers from College of Asian Scholars. Khon Kaen.  The tool was The New Thai Mental Health Indicator: TMHI-54. Analysis by the percentage, the average and standard deviation.  The study was finding that the most of  teachers  were happy more than people.

Keyword: Happiness, Teacher

บทนำ
                ความสุข เป็นสุดยอดปรารถนาของมนุษย์ (พุทธทาสภิกขุ, 2542) พระราชาธิบดี จิกเม ซิงเย วังชุก กษัตริย์แห่งประเทศภูฏาน ทรงริเริ่มแนวคิดการพัฒนาประเทศโดยให้ความสำคัญกับความสุขมากกว่าการให้ความสำคัญกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว (Kiwako Okuma Nystrom, 2011) สำหรับในประเทศไทย นายแพทย์ประเวศ วะสี (2548) ได้เสนอแนวคิด ความอยู่เย็นเป็นสุขของสังคมไทย ซึ่งประกอบมิติทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและจิตใจ
การจัดการศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ (มหาวิทยาลัย  ราชภัฏสวนสุนันทา, 2554)   อาจารย์ คือครูผู้สอนในระดับอุดมศึกษา หมายถึง บุคคลที่มีหน้าที่ หรือมีอาชีพในการสอนผู้เรียน เกี่ยวกับวิชาความรู้ หลักการคิดการอ่าน รวมถึงการปฏิบัติและแนวทางในการทำงาน อาจารย์นับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์  โดยเป็นผู้ให้การศึกษาเรียนรู้ ทั้งในด้านวิชาการ และประสบการณ์  การที่อาจารย์จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดีได้นั้น อาจารย์ต้องมีชีวิตที่มีความสุข ทั้งในด้านปัจจัยของการดำรงชีวิต และการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานและ ทำให้สามารถทำงานอย่างมีความสุข   เพื่อให้เกิดแรงผลักดันในการที่จะทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
 จากการศึกษาของ ศรีวรรณา  พูลสรรพสิทธิ์ และคณะ (2547) พบว่า การเฝ้าระวังสุขภาพจิต และการแก้ปัญหาสุขภาพจิตสามารถทำให้ประชาชนมีความสุขเพิ่มขึ้น และความเครียดลดลงอย่างชัดเจน  ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาว่า ระดับความสุขของอาจารย์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซียเป็นอย่างไร เพื่อเฝ้าระวังสุขภาวะของอาจารย์  และนำผลจากการศึกษาวิจัยมาเป็นข้อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาความสุขของอาจารย์  ภายใต้ความเชื่อที่ว่า เมื่ออาจารย์มีความสุขแล้ว  ย่อมนำไปสู่การทำงานและบริการประชาชนในด้านการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ท้ายที่สุดแล้วก็จะนำมาซึ่งประชาชนที่มีคุณภาพ อันจะส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าและการพัฒนาประเทศต่อไป

วัตถุประสงค์
                เพื่อศึกษาระดับความสุขของอาจารย์   

ขอบเขตของการวิจัย
                1. ขอบเขตประชากร การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาระดับความสุขของอาจารย์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย  ซึ่งปฏิบัติงานที่วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย  ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป   
                2. ขอบเขตตัวแปร การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาระดับความสุขของอาจารย์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย โดยมีตัวแปรที่ทำการศึกษาคือ ความสุขของอาจารย์
                3. ขอบเขตเวลา ทำการศึกษาระหว่างวันที่ 15 ถึง 22 สิงหาคม 2552 

การทบทวนวรรณกรรม
               1.  แนวคิดหลักการทฤษฎีที่เกี่ยวข้องนับจากอดีตถึงปัจจุบัน มีนักปรัชญาได้อธิบายเกี่ยวกับความสุข ไว้หลายแนวคิดเริ่มจากปรัชญาเมธีชาวกรีก อริสโตเติล กล่าวว่า ความดีคือความสุข(Happiness)  ความดีกับความสุขเป็นสิ่งเดียวกัน  สอดคล้องกับแนวความคิดเกี่ยวกับความสุขของ นักปรัชญาจิตนิยมของกรีกเพลโตเป็นอย่างมาก  เพลโตเชื่อว่า ถ้าคนเราทำตามความพอใจแล้วมีความสุข ทำตามใจชอบโดยไม่คำนึงถึงเหตุผล ไม่ใช้ปัญญา หรือคุณธรรมย่อมนำมาซึ่งความหายนะ เพลโตให้คุณค่าของการแสวงหาความสุขทางจิตใจมากกว่าการแสวงหาความสุขทางกาย    เพลโตจึงไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดของสำนักโซฟิสต์ที่กล่าวว่า ความดีคือ ความพอใจ คือความสุขสำราญ(Pleasure)   มายเออร์ สวีนี่และวิทเมอร์ ก็ได้เสนอ กงล้อแห่งความผาสุก หรือ ความสุขสบาย(wheel and wellness) เพื่อเป็นรูปแบบในการรักษาแบบองค์รวมโดยรวมเอาหลักการ ผลจากการศึกษาวิจัยทางการแพทย์  สังคมและจิตวิทยา  มาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาความเป็นอยู่อันดีของบุคคลตลอดทุกช่วงชีวิต  เป็นการเน้นการป้องกัน  การพัฒนาแบบองค์รวม  อันเป็นทิศทางใหม่ในการดูแลสุขภาพ กงล้อแห่งความผาสุกหรือความสุขสบายของบุคคลประกอบด้วยงานชีวิต 5 ด้าน คือ1) จิตวิญญาณ เป็นการตระหนักรู้ เป็นความรู้สึกที่ลึกซึ้งถึงความเป็นหนึ่งเดียวหรือรู้สึกเชื่อมโยงกับจักรวาล เป็นความเชื่อ ค่านิยม ศาสนา เป็นลักษณะที่เป็นแกนของบุคคลที่มีสุขภาพดี เป็นแหล่งของมิติต่างๆ ของความสุขสบายอื่นๆ เช่น การทำกิจกรรมทางศาสนาหรือการฝึกทางจิตวิญญาณอื่นๆ  2) การให้ทิศทางแก่ตนเองเพื่อไปสู่เป้าหมายระยะยาว ประกอบด้วย  ความรู้สึกในคุณค่าแห่งตน   การควบคุมตนเอง  ความเชื่อสอดคล้องกับความเป็นจริง ตระหนักในอารมณ์ของตนเองและจัดการกับสิ่งนี้ได้  การแก้แก้ปัญหาและความคิดสร้างสรรค์  อารมณ์ขัน  โภชนาการ  การออกกำลังการดูแลตนเอง การจัดการความเครียด  เอกลักษณ์ทางเพศ และ เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม  3) งานและเวลาว่าง  4) มิตรภาพ  และ 5) ความรัก  กงล้อแห่งความผาสุกหรือความสุขสบายเป็นการรวบรวมลักษณะของคนสุขภาพดีตลอดช่วงชีวิตช่วยเป็นพื้นฐานในการพัฒนามนุษย์เพื่อให้มีความเป็นอยู่อันดีโดยมีพื้นฐานจากจุดแข็งและทรัพยากรในตัวบุคคลและอาจมีการปรับเปลี่ยนแบบการดำเนินชีวิตบางด้าน  สรุปได้ว่ากระบวนทัศน์ของความสุขที่กล่าวมาทั้งหมดมีลักษณะหลายอย่างร่วมกันและมีความคล้ายคลึงกันโดยการเน้นอารมณ์ทางบวก ความสามารถในการควบคุมตนเองและการมีความสัมพันธ์ที่เหมาะสมเป็นต้น มีข้อแตกต่างระหว่างโลกตะวันตกโลกและตะวันออกเกี่ยวกับกระบวนทัศน์ทางความสุข ตะวันออกจะเน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากกว่าโดยให้ความสำคัญกับครอบครัวและสังคม ขณะที่กระบวนทัศน์ทางตะวันตกเน้นที่ตัวบุคคล (ศิริบูรณ์  สายโกสุม, 2550)   
2.  งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความสุขมีผู้ได้ศึกษาไว้ดังนี้
สมชาย จักรพันธุ์ ได้ทำการสำรวจความสุขของคนไทยปี 2548 ในเขตกรุงเทพ และภูมิภาค 19 เขตราชการ จำนวน 3,340 ตัวอย่าง โดยใช้แบบประเมินดัชนีชี้วัดความสุขคนไทยของ อภิชัย มงคลและคณะ(2547) 15 ข้อ พบว่าคนไทยส่วนใหญ่มีความสุขในระดับปกติ เพศชายมีความสุขในระดับมาก มากกว่าเพศหญิง ผู้ที่แต่งงานแล้วมีความสุขมากกว่าคนโสด ภาคอีสานมีความสุขมากที่สุด ภาคใต้มีระดับความสุขน้อยที่สุด จังหวัดที่มีความสุขมากที่สุดคือมหาสารคาม กลุ่มที่มีความสุขน้อยที่สุด คือ กลุ่มคนว่างงานร้อยละ 52.22  ผลการวิจัยพบว่าระดับความสุขของคนไทยที่สำรวจในปี 2548 น้อยกว่าระดับความสุขของคนไทยที่สำรวจเมื่อปี 2546  สิ่งที่ทำให้คนไทยมีความสุข 10 อันดับแรก คือ 1)การมีชีวิตครอบครัวที่ไม่แตกแยก 2) มีเงินพอใช้ไม่เป็นหนี้     3) การได้อยู่กับคนที่รัก 4) การไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ 5) เหตุการณ์บ้านเมืองสงบสุข  6.เป็นที่ยอมรับของคนรอบข้าง 7) การได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ 8) การมีสภาพแวดล้อมที่ดี  9) การมีชีวิตปลอดภัยในสังคม และ 10) สังคมมีคุณธรรมจริยธรรม   ต่อมาในปี 2549  อรุณี อุณหะวรากร ได้ทำการศึกษาความสุขจากการเสียสละ โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสุขที่ถูกกำหนดจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ เพศ อายุ การศึกษา สถานภาพสมรส และการเสียสละ โดยใช้ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับใหม่ ของอภิชัย มงคลและคณะ(2547)  มาวิเคราะห์ข้อมูลผลการศึกษาพบว่า ผู้ชายมีค่าเฉลี่ยคะแนนความสุขมากกว่าผู้หญิง ช่วงอายุ 41 -60 ปีมีค่าเฉลี่ยคะแนนความสุขมากกว่าช่วงอายุ 15-40 ปี   เขตชนบทมีค่าเฉลี่ยคะแนนความสุขมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ   สถานภาพสมรสคู่มีความสุขมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ  สำหรับผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสุขและการเสียสละ พบว่า มีความสัมพันธ์ต่อกันในทิศทางบวก   ในปีเดียวกัน กรมสุขภาพจิต ร่วมกับสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ได้ทำการศึกษาดัชนีความสุขมวลรวม(Gross Domestic Happiness Index) ของคนไทยประจำเดือนสิงหาคม : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชน 25 จังหวัดของประเทศ จำนวน 4864 คน ทำการศึกษาระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม – 12 กันยายน 2549 ผลการศึกษา พบว่า ความสุขคนไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีต่อปัจจัยสำคัญ 10 อันดับแรก ไก้แก่ ความสุขต่อวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีไทย และความจงรักภักดี ได้คะแนนความสุขเฉลี่ยเท่ากับ8.07 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน อันดับสอง ได้แก่ สายสัมพันธ์ของคนในครอบครัวได้ 8.02 คะแนน อันดับสามได้แก่ สุขภาพกาย ได้ 7.71 คะแนน อันดับสี่ ได้แก่ ความพึ่งพอใจในการทำงาน ได้ 7.16 คะแนน อันดับห้า ได้แก่ ธรรมชาติและการจัดสรรทรัพยากร ได้ 6.88 คะแนน อันดับที่หก ได้แก่ สุขภาพใจ ได้ 6.72 คะแนน อันดับเจ็ด ได้แก่ ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ได้ 6.58 คะแนน อันดับแปด ได้แก่ ระบบการศึกษาของประเทศ ได้ 6.54 คะแนน อันดับเก้า ได้แก่หลักเศรษฐกิจพอเพียง ได้ 6.33 คะแนน และเรื่องของความยุติธรรมทางสังคมผ่านกระบวนการยุติธรรม ได้ 6.33 เท่ากัน   ในปี 2550 ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ และพิริยะ ผลพิรุฬห์ได้ทำการศึกษาเรื่องความสุขกายสบายใจของคนเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาลักษณะของความสุขทางใจและความสุขทางกาย เปรียบเทียบระหว่างคนในภาคต่าง ๆ และตัวอย่างที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองและเขตชนบทศึกษาจากข้อมูลอภิชัย มงคลและคณะ (2547) ในการวิจัยเรื่อง พัฒนาและทดสอบดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับใหม่ ผลการศึกษา พบว่า ประชากรเขตชนบทตอบว่า มีความสุข (สุขมากที่สุด สุขมาก) มากกว่าประชากรเขตเมือง และประชากรที่ตอบว่ามีความสุขเมื่อจำแนกตามพื้นที่ พบว่า ภาคเหนือมีความสุขมากที่สุด ต่อมา อภิชัย  มงคล  และคณะ  (2551)  ได้ทำการสำรวจความสุขคนไทย ปี พ.ศ.2548  เพื่อสำรวจความสุขของบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข สำรวจความสุขของประชาชน และเปรียบเทียบความสุขของประชาชนจากการสำรวจในปี พ.ศ.2546 และปี พ.ศ.2548 กลุ่มตัวอย่าง 4,500 คน จำแนกเป็นบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 1,500 คน และประชาชนในพื้นที่ที่มีหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขตั้งอยู่ จำนวน 3,000 คน สุ่มตัวอย่างโดยใช้วิธีการแบ่งกลุ่มหลายขั้นตอน  เครื่องมือที่ใช้ คือ ดัชนีชี้วัดความสุขคนไทยฉบับสั้น 15 ข้อ ของอภิชัย  มงคล และคณะ(2547) วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่  ร้อยละ  ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  ผลการวิจัยพบว่าระดับความสุขของบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข  ส่วนใหญ่มีความสุขเท่ากับคนทั่วไป  ระดับความสุขของประชาชนพบว่าส่วนใหญ่มีความสุขเท่ากับคนทั่วไป  และพบว่าระดับความสุขของประชาชนในปี พ.ศ.2548 ลดลงกว่า ปี พ.ศ. 2546
จากการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่ายังไม่มีผู้ใดทำการศึกษาความสุขของอาจารย์  คณะผู้ศึกษาจึงมีความสนใจที่จะศึกษาความสุขของอาจารย์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรม เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมต่อไป

วิธีดำเนินการวิจัย
                1. ระเบียบวิธีวิจัย งานวิจัยฉบับนี้มุ่งการศึกษาระดับความสุขของอาจารย์ โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) มีวิธีการดำเนินการ ดังนี้
                2. ขั้นตอนการวิจัย  ในการศึกษาครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับสุขของอาจารย์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย จังหวัดขอนแก่น  ผู้ศึกษาใช้แนวคิดทฤษฎีระบบเป็นกรอบแนวคิดของการศึกษา   มีขั้นตอนการศึกษาดังนี้
                                2.1   ปัจจัยนำเข้า (Input) มีดังนี้ 1) ความเชื่อที่ว่า อาจารย์ คือครูผู้สอนที่มีหน้าที่ ในการสอนผู้เรียน เกี่ยวกับวิชาความรู้ หลักการคิดการอ่าน ความสุขมีผลทำให้อาจารย์มีการจัดการสอนที่ดี หากอาจารย์ไม่มีความสุขทั้งปัจจัยภายในและภายนอก จะส่งผลให้การจัดการเรียนการสอนไม่เกิดประสิทธิภาพ 2) การทบทวนวรรณกรรม    3) กลุ่มตัวอย่างคืออาจารย์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย จังหวัดขอนแก่น ปีการศึกษา 2551   4 ) ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสมบูรณ์ 54 ข้อ กรมสุขภาพจิต  กระทรวงสาธารณสุข
                              2.2   กระบวนการ (Process) มีดังนี้ ขั้นตอนที่ 1   ชี้แจงเรื่องการวิจัยและการใช้แบบสอบถาม    ขั้นตอนที่ 2 เปิดโอกาสให้กลุ่มตัวอย่างซักถาม ขั้นตอนที่ 3   แจกแบบสอบถามโดยใช้ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทย   ฉบับสมบูรณ์ 54 ข้อ และตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของแบบสอบถาม ขั้นตอนที่ 4    เก็บแบบสอบถามกลับคืนและตรวจสอบความถูกต้อง ขั้นตอนที่ 5   วิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผลการศึกษา
                              2.3  ผลผลิต (Output) คือ ระดับความสุขของอาจารย์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย   จังหวัดขอนแก่น
                3.  การรวบรวมข้อมูล ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล ตามขั้นตอนต่อไปนี้
                                3.1 ทำหนังสือขออนุญาตเก็บรวบรวมข้อมูลจากอธิการบดี   วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย
                            3.2 ติดต่อขอความร่วมมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลกับอาจารย์ประจำ  วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย จังหวัดขอนแก่น
                                3.3 ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล  ระหว่างวันที่  15 ถึง 22  สิงหาคม  2552  
                              3.4 ผู้วิจัยได้ทำการแจกแบบสอบถาม ซึ่งก่อนแจกแบบสอบถาม ผู้วิจัยแนะนำตัวและรายละเอียดของแบบสอบถาม พร้อมทั้งถามความสมัครใจของผู้ตอบแบบสอบถาม การแจกแบบสอบถามได้แจกตามรายชื่อบุคลากรในวิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย จำนวน 44 ชุด และผู้วิจัยไปรับแบบสอบถามคืนด้วยตนเอง
                4.  การวิเคราะห์ข้อมูลและวิธีทางสถิติที่ใช้
                                4.1สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบน มาตรฐาน 
                                4.2 การให้คะแนนและการแปลผลค่าปกติ (norm)  การให้คะแนนและการแปลผลค่าปกติ (norm)ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสมบูรณ์ 54 ข้อ (TMHI – 54)  มีการให้คะแนนแบบประเมิน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม  โดยกลุ่มที่ 1 เป็นข้อความทางบวก ได้แก่ข้อ 1, 2, 3, 4, 14, 15, 16, 17, 18, 19, 20, 21, 22, 23,24, 29, 30, 31, 32, 33, 34, 35, 36, 37, 38, 39, 40, 41,42, 43, 44, 45, 46, 47, 48, 49, 50, 51, 52, 53, 54  แต่ละข้อให้คะแนนดังนี้ ไม่เลย =0 คะแนน เล็กน้อย = 1 คะแนน มาก = 2 คะแนน และมากที่สุด = 3 คะแนน  กลุ่มที่ 2 เป็นข้อความทางลบ ได้แก่ข้อ 5, 6, 7, 8, 9, 10, 11,12, 13, 25, 26, 27, 28, แต่ละข้อให้คะแนนดังนี้  ไม่เลย = 3 คะแนน  เล็กน้อย = 2 คะแนน มาก = 1 คะแนน  และ มากที่สุด = 0 คะแนน
                                4.3 การแปลผลการประเมิน ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสมบูรณ์ 54 ข้อ มีคะแนนเต็มทั้งหมด 162 คะแนน เมื่อผู้ตอบได้ประเมินตนเองแล้ว และรวมคะแนนทุกข้อได้คะแนนเท่าไร สามารถนำมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ปกติที่กำหนด ดังนี้ (อภิชัย มงคลและคณะ, 2547)
                                                118-162  คะแนน  หมายถึงมีความสุขมากกว่าคนทั่วไป (Good)
                                                99-117    คะแนน  หมายถึงมีความสุขเท่ากับคนทั่วไป (Fair)
                                                       98     คะแนนหรือน้อยกว่า   หมายถึงมีความสุขน้อยกว่าคนทั่วไป (Poor)
ผลการวิจัย
ผลการศึกษาลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-40 ปี   ร้อยละ  52.27   เพศหญิงมากกว่าเพศชายร้อยละ 75.00   สถานภาพสมรสคู่ร้อยละ 50.00   สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทร้อยละ 90.90   ดังตาราง 1

ตาราง  1 จำนวนและร้อยละของกลุ่มตัวอย่าง จำแนกตามลักษณะทางประชากร

ตัวแปร
จำนวน N=44
ร้อยละ
ตัวแปร
จำนวน N=44
ร้อยละ
อายุ
20-40            ปี
41-60  ปี
61 ปีขึ้นไป
  
สถานภาพ
   โสด
   สมรส
   หย่าร้าง
    หม้าย

23
17
4


20
22
 1
 1

52.27
38.64
  9.09


45.46
50.00
2.27
2.27
เพศ
  ชาย
  หญิง


ระดับการศึกษา
   ปริญญาตรี
   ปริญญาโท
   ปริญญาเอก

11
33



2
40
 2

25.00
75.00



4.55
90.90
4.55

ผลการจำแนกระดับความสุขของกลุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบกับเกณฑ์ปกติ พบว่า อาจารย์ประจำ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซียส่วนใหญ่มีระดับความสุขมากกว่าคนทั่วไป   คิดเป็นร้อยละ  63.60โดยจำแนกเป็นเพศหญิงเป็นเพศชาย รองลงมาคือ มีระดับความสุขเท่ากับคนทั่วไป   คิดเป็นร้อยละ 34.10 โดยจำแนกเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และมีระดับความสุขน้อยกว่าคนทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 2.30 ดังตาราง 2

ตาราง   2     การจำแนกระดับความสุขของอาจารย์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย
      
ระดับคะแนน
ระดับความสุข
เพศ
ชาย       หญิง
จำนวน N=44
ร้อยละ
118-162
ความสุขมากกว่าคนทั่วไป
7          21
28
63.60
99-117
ความสุขเท่ากับคนทั่วไป
11            4
15
34.10
92-98
ความสุขน้อยกว่าคนทั่วไป
-              1
  1
2.30

ผลการสำรวจและประเมินเหตุการณ์ อาการหรือความคิดเห็นและความรู้สึกของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า สิ่งที่ทำให้อาจารย์ประจำ  วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย   มีความสุขมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ  1) หากป่วยหนักแล้วเชื่อว่าจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากครอบครัว (ค่าเฉลี่ย 2.70)   2) สามารถแก้ปัญหาส่วนใหญ่ได้ (ค่าเฉลี่ย2.60)   3) รู้สึกมั่นคง ปลอดภัยเมื่ออยู่ในครอบครัว (ค่าเฉลี่ย2.60)   ดังตาราง 3

ตาราง    3   ค่าคะแนนเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทย

ความคิดเห็น
x
S.D.
1. ท่านรู้สึกพึงพอใจในชีวิต
2.30
0.6
2. ท่านรู้สึกสบายใจ
2.20
0.7
3. ท่านรู้สึกสดชื่นเบิกบานใจ
2.10
0.7
4. ท่านรู้สึกชีวิตของท่านมีความสุขสงบ(ความสงบสุขในจิตใจ)
2.20
0.8
5. ท่านรู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้กับการดำเนินชีวิตประจำวัน
2.40
0.5
6. ท่านรู้สึกผิดหวังในตัวเอง
2.70
0.5
7. ท่านรู้สึกว่าชีวิตของท่านมีแต่ความทุกข์
2.70
0.5
8. ท่านรู้สึกกังวลใจ
2.30
0.6
9. ท่านรู้สึกเศร้าโดยไม่ทราบสาเหตุ
2.70
0.5
10. ท่านรู้สึกโกรธหงุดหงิดง่ายโดยไม่ทราบสาเหตุ
2.60
0.6
11. ท่านต้องไปรับการรักษาพยาบาลเสมอๆ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตและทำงานได้
2.80
0.5
12. ท่านเป็นโรคเรื้อรัง (เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพาต ลมชัก)
2.70
0.6
13. ท่านรู้สึกกังวลหรือทุกข์ทรมานใจเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของท่าน
2.80
0.4

ตาราง    3   (ต่อ)

ความคิดเห็น
x
S.D.
14. ท่านพอใจต่อการผูกมิตรหรือเข้ากับบุคคลอื่น
2.40
0.6
15. ท่านมีสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนบ้าน
2.30
0.6
16. ท่านมีสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน(ทำงานร่วมกับคนอื่น)
2.40
0.5
17. ท่านคิดว่าท่านมีความเป็นอยู่และฐานะทางสังคม ตามที่ท่านได้คาดหวังไว้
2.20
0.6
18. ท่านรู้สึกประสบความสำเร็จและความก้าวหน้าในชีวิต
2.10
0.7
19. ท่านรู้สึกพึงพอใจกับฐานะความเป็นอยู่ของท่าน
2.30
0.6
20. ท่านเห็นว่าปัญหาส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่แก้ไขได้
2.60
0.5
21. ท่านสามารถทำใจยอมรับได้สำหรับปัญหาที่ยากจะแก้ไข (เมื่อมีปัญหา)
2.40
0.5
22. ท่านมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมอารมณ์ได้ เมื่อมีเหตุการณ์คับขันหรือร้ายแรงเกิดขึ้น
2.30
0.6
23. ท่านมั่นใจที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในชีวิต
2.30
0.6
24. ท่านแก้ปัญหาที่ขัดแย้งได้
2.20
0.6
25. ท่านจะรู้สึกหงุดหงิด ถ้าสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
2.00
0.5
26. ท่านหงุดหงิดโมโหง่ายถ้าท่านถูกวิพากษ์วิจารณ์
2.20
0.6
27. ท่านรู้สึกหงุดหงิด กังวลใจกับเรื่องเล็กๆน้อยๆ ที่เกิดขึ้นเสมอ
2.40
0.6
28. ท่านรู้สึกกังวลใจกับเรื่องทุกเรื่องที่มากระทบตัวท่าน
2.40
0.7
29. ท่านรู้สึกยินดีกับความสำเร็จของคนอื่น
2.50
0.5
30. ท่านรู้สึกเห็นใจเมื่อผู้อื่นมีทุกข์
2.30
0.6
31. ท่านรู้สึกเป็นสุขในการช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อมีโอกาส
2.40
0.5
32. ท่านให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่นเมื่อมีโอกาส
2.50
0.5
33. ท่านเสียสละแรงกายหรือทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่หวังผล
2.40
0.6
34. หากมีสถานการณ์ที่คับขันเสี่ยงภัยท่านพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือร่วมกับผู้อื่น
2.30
0.7
35. ท่านพึงพอใจกับความสามารถของตนเอง
2.30
0.6
36. ท่านรู้สึกภูมิใจในตนเอง
2.40
0.6
37. ท่านมีสิ่งยึดเหนี่ยวสูงสุดในจิตใจที่ทำให้จิตใจมั่นคงในการดำเนินชีวิต
2.40
0.6
38. ท่านมีความเชื่อมั่นว่าเมื่อเผชิญกับความยุ่งยากท่านมีสิ่งยึดเหนี่ยวในจิตใจ
2.40
0.6
39. ท่านเคยประสบกับความยุ่งยากและสิ่งยึดเหนี่ยวสูงสุดในจิตใจช่วยให้ท่านผ่านพ้นไป
2.40
0.6
40. ท่านต้องการทำบางสิ่งที่ใหม่ในทางที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เดิม
2.50
0.5
41. ท่านมีความสุขกับการริเริ่มงานใหม่ๆ และมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ
2.40
0.7
42. ท่านมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในทางที่ดี
2.50
0.5
43. ท่านมีเพื่อนหรือคนอื่นๆ ในสังคมคอยช่วยเหลือท่านในยามที่ต้องการ
2.40
0.6

ตาราง    3   (ต่อ)

ความคิดเห็น
x
S.D.
44. ท่านได้รับความช่วยเหลือตามที่ท่านต้องการจากเพื่อนหรือคนอื่นๆในสังคม
2.10
0.6
45. ท่านรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยเมื่ออยู่ในครอบครัว
2.60
0.6
46. หากท่านป่วยหนัก ท่านเชื่อว่าครอบครัวจะดูแลท่านเป็นอย่างดี
2.70
0.5
47. ท่านปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากครอบครัวเสมอเมื่อท่านมีปัญหา
2.40
0.7
48. สมาชิกในครอบครัวมีความรักและผูกพันต่อกัน
2.50
0.6
49. ท่านมั่นใจว่าชุมชนที่ท่านอาศัยอยู่มีความปลอดภัยต่อท่าน
2.30
0.6
50. ท่านรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในทรัพย์สินเมื่ออาศัยอยู่ในชุมชนนี้
2.30
0.6
51. มีหน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้านที่ท่านสามารถไปใช้บริการได้
2.10
0.7
52. หน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้านสามารถไปให้บริการได้เมื่อท่านต้องการ
2.00
0.9
53. เมื่อท่านหรือญาติเจ็บป่วยจะใช้บริการจากหน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้าน
1.90
0.9
54. เมื่อท่านเดือดร้อนจะมีหน่วยงานในชุมชน(เช่น มูลนิธิ ชมรม สมาคม วัด สุเหร่า ฯลฯ) มาช่วยเหลือดูแลท่าน
1.30
0.8

อภิปรายผลการวิจัย
                ผลการศึกษาลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-40 ปี   ร้อยละ  52.27   เพศหญิงมากกว่าเพศชายร้อยละ 75.00   อาจารย์ส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรสคู่    ร้อยละ 50.00   สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Kim & McKenry (2002 อ้างถึงใน อรวรรณ   ลิขิตพรสวรรค์, 2553)  และ  อรุณี   อุนหะวรากร (2549)  ที่พบว่า สถานภาพสมรสคู่มีความสุขมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ   และส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทร้อยละ 91   
                ผลการจำแนกระดับความสุขของกลุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบกับเกณฑ์ปกติ พบว่า อาจารย์ประจำ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ภาคอีสาน  ส่วนใหญ่มีระดับความสุขมากกว่าคนทั่วไป   คิดเป็นร้อยละ  63.63 ทั้งนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาของ สมชาย จักรพันธุ์ (2549) ที่พบว่า ประชาชนในภาคอีสานมีความสุขมากที่สุดเมื่อเทียบกับประชาชนในภาคอื่นๆ    และสอดคล้องกับผลการศึกษาของ ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ และพิริยะ ผลพิรุฬห์ (2550) ที่พบว่า ประชากรในชนบทมีความสุขมากที่สุด
อย่างไรก็ตามผลการศึกษาครั้งนี้พบว่า เพศหญิงมีระดับความสุขมากกว่าคนทั่วไป มากกว่าเพศชาย ซึ่งขัดแย้งกับผลการศึกษาของ สมชาย จักรพันธุ์ (2549) และ อรุณี   อุนหะวรากร (2549)    ที่พบว่า เพศชายมีความสุขอยู่ในระดับมากกว่าเพศหญิง    
จากการศึกษาระดับความสุขของอาจารย์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย สรุปว่าอาจารย์ส่วนใหญ่มีระดับความสุขมากกว่าคนทั่วไป   โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาจารย์มีระดับความสุขมากที่สุดคือ   แรงสนับสนุนจากครอบครัว    

ข้อเสนอแนะ
                1. ข้อเสนอแนะเพื่อการนำผลการวิจัยไปใช้งาน ควรนำผลการวิจัยนี้ไปเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวังระดับความสุขและเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความสุขของอาจารย์วิทยาลัยบัณฑิตเอเซียต่อไป
                2. ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยต่อไป
2.1 ควรศึกษาความสุขของอาจารย์วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย อย่างต่อเนื่องเป็นประจำ เพื่อเฝ้าระวังระดับความสุขของอาจารย์
2.2 ควรศึกษาเปรียบเทียบความสุขของบุคคลแต่ละอาชีพที่แตกต่างกัน เช่น แพทย์พยาบาล ทหาร ตำรวจ นักการเมือง เป็นต้น และเลือกกลุ่มตัวอย่างในจังหวัดอื่นๆ
2.3 ควรเลือกศึกษาวิจัยกลุ่มตัวอย่างที่ขนาดใหญ่ เช่น ระดับ อำเภอ ระดับจังหวัด ในเรื่องความสุข ทั้งนี้เพื่อการค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ และนำผลการวิจัยมาพัฒนาและปรับปรุงงานวิจัยในครั้งต่อไปให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น                                                                                                                       

เอกสารอ้างอิง
1. กรมสุขภาพจิต  กระทรวงสาธารณสุข. (2552). การศึกษาสุขภาพจิตคนไทย ปี พ.ศ. 2550. พิมพ์ครั้ง ที่ 1.ขอนแก่น: โรงพิมพ์พระธรรมขันต์.
2. ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ และพิริยะ ผลพิรุฬห์.(2550). ความสุขกายสบายใจของคนเมือง. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
3. ประเวศ วะสี. (2548). มรรค 12 สู่ประเทศไทยอยู่เย็นเป็นสุข ถ้าปรารถนาความอยู่เย็นเป็นสุข ก็ต้องใช้ดัชนีวัดความอยู่เย็นเป็นสุข. กรุงเทพฯ: สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ และ  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.
4. พุทธทาสภิกขุ. (2542). ความสุขสามระดับ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.
5. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. (2554). เอกสารเผยแพร่การประชุมวิชาการระดับนานาชาติ  การประชุมวิชาการบริหารการศึกษาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๓๔  และการประชุมวิชาการและแสดงผลงานวิจัยระดับชาติ ครั้งที่ ๓. Retrieved from  http://conference.ssru.ac.th/[21 December 2011]
6. รุจา  ภู่ไพบูลย์. (2541). การพยาบาลครอบครัว : แนวคิดทฤษฎีและการนำไปใช้ .กรุงเทพฯ: โครงการตำราภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.7. ศิริบูรณ์  สายโกสุม. (2550).  วารสารฉบับการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2550. สมาคมสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภก.
8. ศรีวรรณา  พูลสรรพสิทธิ์ และคณะ. (2547). การลดปัญหาสุขภาพจิตไทยของประชาชนไทย  กรณีศึกษาการประเมินผลโครงการสุขภาพใจ ภาคประชาชน ปี 2547.  วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย. ฉบับที่ 1. ปีที่ 13.
9.สมชาย จักรพันธุ์. (2549). การสำรวจความสุขของคนไทย ปี ๒๕๔๘ ในเขตกรุงเทพมหานครและ ภูมิภาค ๑๙ เขตตรวจราชการ. Retrieved from  http://www.nph.go.th/test/happy/ happy.html[1 January 2009]
10.สุรีย์พร  พันพึ่ง.(2550).  ประชากรและสังคม 2550 นคราภิวัฒน์และวิถีชีวิต  เมืองนครปฐม. มปพ.กรุงเทพมหานคร: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
11.สุริยันต์    ชูช่วย.(2548). วิทยานิพนธ์ เรื่อง การแสวงหาความสุขและคุณค่าของชีวิต กรณีศึกษาทัศนะกลุ่มคนต่างวัยในกทม..กรุงเทพมหานคร
12.อภิชัย มงคล และคณะ (2547).  การพัฒนาและทดสอบดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับใหม่.      ขอนแก่น : โรงพิมพ์พระธรรมขันต์.
13.อภิชัย มงคล และคณะ (2551).  การสำรวจความสุขคนไทยปี พ.ศ.2548. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข.
14.อรวรรณ  ลิขิตพรสวรรค์และคณะ. (2553). ปัจจัยทำนายความผาสุกในครอบครัวของพยาบาลสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร. วารสารพยาบาลสาธารณสุข. ปีที่ : 24  ฉบับที่ : 3  หน้า : 1-20  
15.อรุณี อุนหะวรากร. (2549). ความสุขจากการเสียสละ.วิทยานิพนธเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาพัฒนาการเศรษฐกิจ, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
16.Andrews,F.M.,Whithey. (1978). Social indicators of wellbeing. New York: Plenum.
17.Kiwako  Okuma Nystrom. Education, Social sustainability, and gross national happiness:     towards  a  paradigm  shift. Sweden:  Stockholm university. Retrieved from        http://www.gnh- movement.org/papers/okuma.pdf. [1 January 2009]

การเผยแพร่
             รายงานวิจัยฉบับนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในรายงานสืบเนื่องจากการประชุม(Poster Presentation) การประชุมวิชาการระดับนานาชาติ การประชุมวิชาการบริหารการศึกษาสัมพันธ์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 34 การประชุมวิชาการและแสดงผลงานวิจัยระดับชาติ ครั้งที่ 3  เรื่อง "การพัฒนาการศึกษาจากอัตลักษณ์ท้องถิ่นสู่วิถีประชาคมอาเซียน" วันที่ 22-23 มีนาคม 2555 กลุ่มวิชาด้านการศึกษาและนานาชาติ จัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ร่วมกับ สมาคมพัฒนาวิชาชีพ การบริหารการศึกษาแห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น