วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

บทความวิจัยเรื่องการศึกษาทัศนคติ ความคาดหวังและความพึงพอใจของยุวชน และของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่

การศึกษาทัศนคติ ความคาดหวังและความพึงพอใจของยุวชน และของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่
THE STUDY OF ATTITUDES, EXPECTATIONS AND SATISFACTION OF GRASSROOTS AND PARENTS IN  ACADEMY FOOTBALL PROJECT
สุกิจจา  จันทะชุม, กษม  ชนะวงศ์, ฐานิกา  บุษมงคล, วีณา  อิศรางกูร ณ อยุธยา, ทิพวัลย์  ด่านสวัสดิกุล,       ฉัตรพงศ์  พีระวราสิทธิ์, คณิตลดา ณะศรี, อ้อมทิพย์ ร่มพฤกษ์, ประเณจตรี คงงาม และ รวีวรรณ พินิจรัมย์, วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย, 2554
บทคัดย่อ
ทัศนคติ  คือ  ความรู้สึกในการประเมินว่าชอบ หรือไม่ชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง    ซึ่งทัศนคตินั้นจะเป็นส่วนสำคัญที่จะกำหนด หรือผลักดันในแต่ละบุคคลนั้นเกิดพฤติกรรม หรือการกระทำที่สอดคล้องกับทัศนคติและความคาดหวังที่แต่บุคคลนั้นมีอยู่ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของยุวชนต่อกีฬาฟุตบอล  ทัศนคติและความคาดหวังของยุวชนต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  ทัศนคติและความคาดหวังของผู้ปกครองต่อยุวชนที่เข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่และความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่   โดยใช้การศึกษาเชิงสำรวจและการศึกษาเชิงคุณภาพ  กลุ่มตัวอย่างเป็นยุวชนที่เข้าร่วมโครงการฟุตบอล อะคาเดมี่ บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย จำนวน 68 คน และ ผู้ปกครองที่พาบุตรหลานหรือนักเรียนในสังกัดมาเข้าร่วมโครงการ ในวันที่ 9 มกราคม 2554 ณ ศูนย์ฝึกฟุตบอล อะคาเดมี่ บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย   จำนวน 21 คน เลือกโดยการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง   เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม และ focus group
          ลักษณะทั่วไปของยุวชน เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง อายุ 8-17 ปี ส่วนใหญ่กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มาจากโรงเรียนในเขตจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง ผลการศึกษาด้านทัศนคติพบว่า ยุวชนชอบกีฬาฟุตบอล เนื่องจาก ทำให้ร่างกายแข็งแรง  มีความสุขและภาคภูมิใจที่ได้เล่นฟุตบอล   ผลการศึกษาด้านความคาดหวังต่ออนาคตของตนเองพบว่า ยุวชนอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพในสังกัดสโมสรขอนแก่นเอฟซี  และ สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดมากที่สุด  และใฝ่ฝันอยากเป็นนักฟุตบอลระดับชาติ       
ลักษณะทั่วไปของผู้ปกครอง ส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่ของยุวชน เพศชายมากกว่าเพศหญิง  อายุมากกว่า 36  ปี  มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 15,00120,000 บาท สถานภาพสมรสคู่  ผลการศึกษาด้านทัศนคติของผู้ปกครองต่อกีฬาฟุตบอล พบว่า ทั้งหมดชอบกีฬาฟุตบอล  ผู้ปกครองส่วนใหญ่ มีความเห็นว่าการเล่นฟุตบอลมีประโยชน์ต่อยุวชนในด้านสุขภาพร่างกายมากที่สุด และ สบายใจที่ยุวชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  ห่างไกลยาเสพติด มีความสุขที่ได้พายุวชนมาเล่นบอล   ผลการศึกษาด้านความคาดหวังของผู้ปกครองต่อยุวชนด้านกีฬาฟุตบอล พบว่าผู้ปกครองทั้งหมดคาดหวังให้ยุวชนเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพในอนาคต  และผู้ปกครองส่วนใหญ่ใฝ่ฝันอยากให้ยุวชนเป็นนักฟุตบอลระดับโลก ผู้ปกครองส่วนใหญ่พึงพอใจมากที่สุดต่อโครงการ
ผลการศึกษา สามารถนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่ต่อไป

คำสำคัญ  ทัศนคติ, ความคาดหวัง,  ความพึงพอใจ, ยุวชน, ผู้ปกครอง, โครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่


ABSTRACT
Attitude is the sense in evaluating whether one likes or dislikes. Attitude, it is important to determine whether a person is driving the behavior that are consistent with the attitude and the expectation that the person exists. This study aims to study the attitudes and expectations of the youth. Also, it aims to study the attitudes, expectations and satisfaction of parents to the football training with the Academy. The research methodology is of the mixed methodologies. Those are the survey and qualitative studies. This study surveyed a representative sample of the youth participating in the Bangkok Glass-College of Asian Scholars Football Academy Project (BG-CAS Football Academy Project). The total number of 68 students. The number of parents who take their children under the average ages to join this Project was 21. The sample was selected by using a random sample-specific. The instrument used was a questionnaire. A qualitative study used was focus group techniques.
The general characteristics of the youths are more males than females. The ages of the students are ranged from 8-17 years old. Most of them are studying in secondary school classes of the schools in the province and neighboring provinces. From the study finding, the youth like football because their body becomes healthy.   They are happy and proud to play football. They think that playing football is the most healthful. They want to be a professional football player under Khon Kaen FC and Manchester United FC and they also dream of being a football player at the national level.
About the general characteristics of the parents, most of them are the parents of the youth. They are more males than females whose ages are above 36 years. The average monthly incomes are ranged from 15,001 to 20,000 baht. They are all marital partner. All parents expect the youth to be athletes and professional football players in the future. They see the importance of football to develop the youth’s body. They dream of their youth to become a world-class footballers and a football player at the national level.
The results can be used as guidelines in the further project development.

Keyword: attitude, expectation, satisfaction, grassroot, parents, academy football project

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ทัศนคติ  คือ  ความรู้สึกในการประเมินว่าชอบ หรือไม่ชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง    ซึ่งทัศนคตินั้นจะเป็นส่วนสำคัญที่จะกำหนด หรือผลักดันในแต่ละบุคคลนั้นเกิดพฤติกรรม หรือการกระทำที่สอดคล้องกับทัศนคติและความคาดหวังที่แต่บุคคลนั้นมีอยู่ กีฬาฟุตบอลเข้ามาสู่ประเทศไทยนับตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6   กีฬาฟุตบอล เป็นกีฬาที่นิยมที่สุดในประเทศ หลังจากการแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก  ฤดูกาล 2009 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมการแข่งขันในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น  ทำให้ฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด  ทำให้เยาวชนไทยและผู้ปกครองเห็นความชัดเจนของเส้นทางสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพในประเทศไทย  เยาวชนไทยมีความสนใจใฝ่ฝันและมีความมุ่งมั่นอยากจะเป็นนักเตะอาชีพมากขึ้น  ในขณะเดียวกันโรงเรียนและผู้ปกครองมีส่วนสนับสนุนส่งเสริมให้เยาวชนรักและชอบกีฬาฟุตบอล   โรงเรียนต่างๆทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนากีฬาฟุตบอล   จึงมีการตั้งอะคาเดมี่ (Academy) หลายแห่ง แต่จากการทบทวนวรรณกรรมที่ผ่านมา คณะผู้วิจัยไม่พบว่ามีผู้ใดศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยุวชนและ ผู้ปกครองของยุวชน ที่เข้าร่วมการฝึกฟุตบอลอะคาเดมี่   คณะผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของยุวชนต่อกีฬาฟุตบอล  ทัศนคติและความคาดหวังของยุวชนต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  ทัศนคติและความคาดหวังของผู้ปกครองต่อยุวชนที่เข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่และความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่ เพื่อเป็นแนวทางในการนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาสถาบันฝึกสอนกีฬาฟุตบอลอะคาเดมี่ ให้มีประสิทธิภาพและสามารถผลิตนักฟุตบอลอาชีพในระดับท้องถิ่นและระดับสากลในอนาคต
         
วัตถุประสงค์ในการวิจัย
1. เพื่อศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของยุวชนต่อกีฬาฟุตบอล
2. เพื่อศึกษาทัศนคติและความคาดหวังโครงของยุวชนต่อการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่
3. เพื่อศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของผู้ปกครองต่อยุวชนที่เข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่
4. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่

วิธีการวิจัย
การศึกษาครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของยุวชนต่อกีฬาฟุตบอล  เพื่อศึกษาทัศนคติและความคาดหวังโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  เพื่อศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของผู้ปกครองต่อยุวชนที่เข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  โดยใช้การวิจัยเชิงสำรวจและการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับประชากร กลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล การสร้างเครื่องมือในการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนี้

กลุ่มตัวอย่าง
        กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นผู้ปกครองและยุวชนที่เข้าร่วมโครงการฟุตบอล อะคาเดมี่ บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย  ในวันที่ 9 มกราคม 2554 ณ ศูนย์ฝึกฟุตบอล อะคาเดมี่ บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย ดังนี้
1. การวิจัยเชิงสำรวจ ศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของยุวชนต่อกีฬาฟุตบอล  เพื่อศึกษาทัศนคติและความคาดหวังโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  เพื่อศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของผู้ปกครองต่อยุวชนที่เข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  บางกอกกล๊าส –บัณฑิตเอเซีย  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้มี 2 กลุ่ม คือ 1)ยุวชน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นยุวชนที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 68 คน ใช้วิธีเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง 2) ผู้ปกครอง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นผู้ปกครองที่พาบุตรหลานหรือนักเรียนในสังกัดมาเข้าร่วมโครงการ จำนวน 21 คน ใช้วิธีเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง
          2. การวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก(In-depth interview) โดยใช้เทคนิคการสนทนากลุ่ม (Focus group) แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1)ยุวชน เป็นยุวชนที่เข้าร่วมโครงการ เลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจงมา 10 คน จากทั้งหมด 68 คน 2)ผู้ปกครอง เป็นผู้ปกครองที่พาบุตรหลานหรือนักเรียนในสังกัดมาเข้าร่วมโครงการ เลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจงมา 10 คน จาก จำนวน 21 คน

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย                                                                                            
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม (Questionnaire) และแบบสัมภาษณ์เชิงลึก   (In-depth interview) มีขั้นตอนในการสร้างเครื่องมือโดย คณะผู้วิจัย ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับสาระสำคัญจากเอกสาร ตำรา วารสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดโครงสร้างของแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์คณะผู้วิจัยสร้างแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์  แล้วนำเสนอให้ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน     ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา (Content Validity)  จากนั้นนำแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ที่ได้ไปทดสอบ(try out) กับยุวชนในโครงการ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 15 ราย ได้ค่าความเชื่อมั่น 0.86 จึงนำแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ที่ได้ ไปรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย 

วิธีเก็บรวบรวมข้อมูล
          คณะผู้วิจัยดำเนินการชี้แจงรายละเอียดของโครงการ และสอบถามความสมัครใจของกลุ่มตัวอย่าง แล้วแจกแบบสอบถามด้วยตนเอง ให้ยุวชน จำนวน 68 ชุด และผู้ปกครอง 21 ชุด รอรับแบบสอบถามคืนพร้อมตรวจสอบความสมบูรณ์    ได้รับแบบสอบถามกลับคืนทุกฉบับ คิดเป็นร้อยละ 100 นำแบบสอบถามที่ได้รับคืนมาดำเนินการวิเคราะห์ สรุปผลตามขั้นตอนของการวิจัย
ส่วนแบบสัมภาษณ์ ใช้การสนทนากลุ่ม(Focus group) โดยผู้วิจัย 1 ท่าน เป็นผู้ดำเนินการและผู้ร่วมวิจัยอีก 2 ท่านแบ่งเป็น note taker 1 ท่านทำหน้าที่บันทึกการสนทนา และ ผู้สังเกตการณ์ 1 ท่าน และมีการใช้เทปบันทึกเสียงการสนทนา

สถิติและการวิเคราะห์ข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัย   ดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้  แบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไป ทัศนคติ  ความคาดหวัง และความพึงพอใจ  เป็นแบบตรวจสอบรายการ (Checklist) และ คำถามปลายปิด   การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติค่าเฉลี่ย ร้อยละ(Percentage) และการแจกแจงความถี่ (Frequency)   แบบสัมภาษณ์  ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis)   เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์กับผลการวิจัยเชิงปริมาณ

ผลการวิจัย
          คณะผู้วิจัยสามารถสรุปผลการวิจัยในประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
          1. ผลการศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของยุวชนต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่ บางกอกกล๊าส –บัณฑิตเอเซีย  
ข้อมูลทั่วไป  พบว่า ยุวชนส่วนใหญ่เป็นเพศชายจำนวน 64 คนคิดเป็น ร้อยละ 94.12 และเพศหญิงจำนวน 4 คน คิดเป็นร้อยละ 5.88  อายุอยู่ระหว่าง 7-17 ปี ค่าเฉลี่ย 12.36  ปี  น้ำหนัก 19-80 กิโลกรัม เฉลี่ย 42.72 กิโลกรัม  ส่วนสูง 101-175 เซนติเมตร เฉลี่ย 152.68 เซนติเมตร ส่วนใหญ่มาจากโรงเรียนขามแก่นนคร จำนวน 17 คน คิดเป็น ร้อยละ  25  ยุวชนมีประสบการณ์ในการเล่นฟุตบอล 0-12 ปี ค่าเฉลี่ย 3.59 ปี ใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ในการเล่นฟุตบอลจำนวน 64 คนคิดเป็นร้อยละ 94.12  ส่วนใหญ่ใช้เวลาตอนเย็นในการเล่นฟุตบอล จำนวน  46 คน คิดเป็นร้อยละ 67.65  ใช้ระยะเวลาการเล่นฟุตบอลในแต่ละวัน 3 ชั่วโมง จำนวน 38 คน คิดเป็นร้อยละ 55.88    ส่วนใหญ่รู้จักสโมสรฟุตบอลขอนแก่น จำนวน 67 คน คิดเป็นร้อยละ 98.53  ส่วนใหญ่รู้จักโครงการวิชั่นขอนแก่น จำนวน 48 คน คิดเป็น ร้อยละ 70.59
          ทัศนคติต่อกีฬาฟุตบอล พบว่ายุวชนชอบกีฬาฟุตบอลจำนวน 68 คน คิดเป็นร้อยละ 100  ส่วนใหญ่ชอบกีฬาฟุตบอลเนื่องจาก ทำให้ร่างกายแข็งแรง มีจำนวน 21 คน คิดเป็นร้อยละ 30.88 นักฟุตบอลไทยที่ยุวชนชื่นชอบมากที่สุดคือ สุธี สุขสมกิจ จำนวน 15 คน คิดเป็นร้อยละ 22.06 นักฟุตบอลต่างประเทศที่ยุวชนชื่นชอบมากที่สุดคือ โรนัลโด้  จำนวน 15 คน คิดเป็นร้อยละ 22.06 สโมสรฟุตบอลไทยที่ยุวชนชื่นชอบมากที่สุด คือ  ขอนแก่นเอฟซี จำนวน 37 คนคิดเป็นร้อยละ 54.41  สโมสรฟุตบอลต่างประเทศที่ยุวชนชื่นชอบมากที่สุดคือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จำนวน 27 คน คิดเป็นร้อยละ 39.71 ยุวชนทั้งหมดมีความสุขและภาคภูมิใจที่ได้เล่นฟุตบอล  จำนวน 68 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ยุวชนมีความเห็นว่า การเล่นฟุตบอลมีประโยชน์ด้านสุขภาพร่างกายมากที่สุด (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)  จำนวน 60 คน คิดเป็นร้อยละ 38.22  ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าการเล่นฟุตบอลทำให้ผลการเรียนเท่าเดิม จำนวน 36 คน คิดเป็นร้อยละ 52.94
ความคาดหวังของตนเองต่อกีฬาฟุตบอล พบว่ายุวชน 68 คน คิดเป็นร้อยละ 100 อยาก
เป็นนักฟุตบอลอาชีพ  ใฝ่ฝันอยากเป็นนักฟุตบอลระดับชาติ 38 คน คิดเป็นร้อยละ 55.88   ยุวชนมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพในสังกัดสโมสรในประเทศไทยมากที่สุดคือ สโมสรขอนแก่นเอฟซี  จำนวน 29 คน คิดเป็นร้อยละ 42.65  ยุวชนมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพในสังกัด สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มากที่สุด จำนวน 26 คน คิดเป็นร้อยละ  38.23 
ความคาดหวังต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเชีย พบว่า ยุวชนส่วนใหญ่เคยเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซียจำนวน 45 คน คิดเป็นร้อยละ66.18   และ เคยเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่ของที่อื่น จำนวน 37 คน คิดเป็นร้อยละ 54.41 อะคาเดมี่ที่เคยเข้าร่วมมากที่สุดคือ ขามแก่นนครอะคาเดมี่ จำนวน 17 คน คิดเป็นร้อยละ 45.95  ยุวชนรับทราบข่าวสารของโครงการผ่านครู จำนวน 31 คน ร้อยละ 34.44   (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)   แรงจูงใจในการเข้าฝึกอบรมที่มีผู้ตอบมากที่สุดคือ ต้องการเล่นฟุตบอลให้เก่งๆ จำนวน 40 คน คิดเป็นร้อยละ 58.82 ยุวชนมีความคิดเห็นว่าโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซียมีส่วนช่วยให้ตนเองเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้      จำนวน 66 คน คิดเป็นร้อยละ 97.06    
         2. ผลการศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส – บัณฑิตเอเซีย
         ข้อมูลทั่วไป พบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นเพศชาย 15 คน คิดเป็นร้อยละ 71.40 และเพศหญิง 6 คน คิดเป็นร้อยละ 28.60  ส่วนใหญ่อายุมากกว่า 36  ปีมีจำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ 52.40 ผู้ปกครองส่วนใหญ่ มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 15,001 – 20,000 บาท จำนวน 7 คน คิดเป็นร้อยละ 33.30  ส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรสคู่ จำนวน 15 คน คิดเป็นร้อยละ 71.40 ส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่ ของยุวชนจำนวน 15 คน คิดเป็นร้อยละ 71.40  
ทัศนคติของผู้ปกครองต่อกีฬาฟุตบอล พบว่า ผู้ปกครองทั้งหมดชอบกีฬาฟุตบอลจำนวน 21 คน คิดเป็นร้อยละ 100 เหตุผลที่ชอบกีฬาฟุตบอล คือ ทำให้ร่างกายแข็งแรง มีผู้ตอบจำนวน 9 คน คิดเป็นร้อยละ 42.86  เคยเล่นฟุตบอล 15 คน คิดเป็นร้อยละ 71.40   ผู้ปกครองเคยประสบความสำเร็จสูงสุดจากการเล่นฟุตบอลในระดับนักกีฬาสีของโรงเรียน จำนวน 9 คน คิดเป็น ร้อยละ 42 ผู้ปกครองทุกคนตอบว่า มีความสุขและภาคภูมิใจในการเล่นฟุตบอล นักฟุตบอลไทยที่ชื่นชอบมากที่สุด ซิกโก้  เกียรติศักดิ์  เสนาเมืองจำนวน 7 คน ร้อยละ 33.34   นักฟุตบอลต่างประเทศที่ผู้ปกครองชื่นชอบมากที่สุด คือ เดวิด แบ็คแฮม จำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ 52.38 สโมสรฟุตบอลไทยที่ผู้ปกครองชื่นชอบมากที่สุด คือสโมสรขอนแก่นเอฟซี จำนวน 8 คน คิดเป็นร้อยละ 38.10 สโมสรฟุตบอลต่างประเทศที่ชื่นชอบมากที่สุด คือสโมสรลิเวอร์พูล จำนวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 66.67 ผู้ปกครองมีความเห็นว่าการเล่นฟุตบอลมีประโยชน์ต่อยุวชนในด้านสุขภาพร่างกายมากที่สุด (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)  จำนวน 18 คน คิดเป็นร้อยละ 25.35 ประโยชน์ที่ผู้ปกครองได้รับจากการเล่นฟุตบอลของยุวชนมากที่สุด คือ มีความสุขที่ได้พาลูกมาเล่นบอลจำนวน 6 คน คิดเป็นร้อยละ 28.57   ผู้ปกครองสนับสนุนยุวชนเกี่ยวกับการเล่นฟุตบอล (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ด้านเวลามากที่สุด จำนวน 15 คน คิดเป็นร้อยละ 25.00 ผู้ปกครองสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านกีฬาฟุตบอล 5,000 -9999บาทต่อปี จำนวน 10 คน คิดเป็นร้อยละ 47.62 
ความคาดหวังของผู้ปกครองต่อยุวชนด้านกีฬาฟุตบอล พบว่า ผู้ปกครองทั้งหมด 21 คน คิดเป็นร้อยละ 100 คาดหวังให้ยุวชนเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ สโมสรฟุตบอลในประเทศไทยที่ผู้ปกครองคาดหวังให้ยุวชนเข้าสังกัดมากที่สุดคือ สโมสรบางกอกกล๊าส  จำนวน 7 คน คิดเป็นร้อยละ 33.33  สโมสรฟุตบอลต่างประเทศที่คาดหวังให้ยุวชนเข้าสังกัดมากที่สุด คือ สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ  52.38 ผู้ปกครองคาดหวังว่ายุวชนจะมีพัฒนาการด้านร่างกายมากที่สุด(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) จำนวน 19 คน คิดเป็นร้อยละ 26.39  ผู้ปกครองใฝ่ฝันอยากให้ยุวชนเป็นนักฟุตบอลระดับโลก จำนวน 12 คน คิดเป็นร้อยละ 57.14
ความคาดหวังของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย พบว่า ผู้ปกครองเคยเข้าร่วมโครงการนี้ จำนวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 66.67  ไม่เคยเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่ของที่อื่นจำนวน 12 คน คิดเป็น ร้อยละ 57.14 แหล่งข้อมูลที่ผู้ปกครองรับทราบข่าวสารของโครงการอบรมฟุตบอล       อะคาเดมี่ บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)  คือ จากครู จำนวน 6 คน คิดเป็นร้อยละ 20.00  เหตุผลที่ส่งยุวชนมาเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอล       อะคาเดมี่ บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย เพราะความเชื่อมั่นในผู้ฝึกสอน จำนวน 17 คน คิดเป็นร้อยละ 38.64 ผู้ปกครองร้อยละ 100 เชื่อมั่นว่าโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่ บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย มีส่วนช่วยให้บุตรหลานเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้ ผู้ปกครองร้อยละ 100 มีความสนใจให้บุตรหลานมาเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเชีย ผู้ปกครองร้อยละ 100 มีปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญที่สุดคือด้านเวลา ผู้ปกครองมีความเห็นว่าการฝึกฟุตบอล ไม่มีผลกระทบต่อการเรียน จำนวน 16 คน คิดเป็นร้อยละ 76.20  ผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย พบว่า พึงพอใจมากที่สุดจำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ 52.40 พอใจมาก จำนวน 10 คน คิดเป็นร้อยละ 47.60

อภิปรายผล
จากผลการวิจัยเรื่อง การศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของยุวชน และ ศึกษาทัศนคติ   ความคาดหวัง  และความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  บางกอกกล๊าส –บัณฑิตเอเซีย     มีประเด็นที่ควรนำมาอภิปรายดังนี้
      ข้อมูลทั่วไปของยุวชน ยุวชนส่วนใหญ่เป็นยุวชนเพศชายมากกว่าเพศหญิง เนื่องจากผู้เข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  บางกอกกล๊าส –บัณฑิตเอเซีย     ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย  ยุวชนส่วนใหญ่เป็นกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1   อยู่ในช่วงชั้นที่ 3  เนื่องจากเป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  บางกอกกล๊าส –บัณฑิตเอเซีย ยุวชนส่วนใหญ่  มาจากโรงเรียนในเขตจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง เนื่องจากเป็นเครือข่ายของโครงการ อบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  บางกอกกล๊าส –บัณฑิตเอเชีย
         ทัศนคติของยุวชนต่อกีฬาฟุตบอล พบว่ายุวชนทั้งหมดชอบกีฬาฟุตบอล เนื่องจาก ทำให้ร่างกายแข็งแรง     สอดคล้องกับ เครชและครัทช์ฟิลด์ (Krech and Crutchfield, 1948) ที่กล่าวว่า ทัศนคติเป็นส่วนสำคัญที่จะกำหนด หรือผลักดันในแต่ละบุคคลนั้นเกิดพฤติกรรม หรือการกระทำที่สอดคล้องกับทัศนคติที่แต่ละบุคคลนั้นมีอยู่    การที่ยุวชนสนใจเล่นกีฬาฟุตบอลนั้นก็เนื่องจากมีทัศนคติเชิงบวกกับกีฬาฟุตบอลนั่นเอง    สโมสรฟุตบอลไทยที่ยุวชนชื่นชอบมากที่สุด คือ  ขอนแก่นเอฟซี ซึ่งสอดคล้องกับวิกิพีเดีย ที่กล่าวว่า  ฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกส์ 2009 ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม  ทำให้ยุวชนมีความใฝ่ฝันที่จะเล่นฟุตบอลอาชีพในสังกัดสโมสรจังหวัดหรือท้องถิ่นของตนเอง ยุวชนทั้งหมด มีความสุขและภาคภูมิใจที่ได้เล่นฟุตบอล  สอดคล้องกับผลการทำ focus group ซึ่งยุวชนตอบว่า ชอบฟุตบอลและได้ขอให้ผู้ปกครองนำมาสมัครโครงการฯนี้
          ความคาดหวังของยุวชนต่อกีฬาฟุตบอล พบว่ายุวชนทั้งหมด อยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ   ใฝ่ฝันอยากเป็นนักฟุตบอลระดับชาติ  สอดคล้องกับผลการทำ focus group ยุวชน 5 ใน 10  มีความใฝ่ฝันว่าในอนาคตจะได้เป็นนักฟุตบอลทีมชาติ ส่วนที่เหลือคิดว่าอยากเล่น ไม่ได้คิดว่าจะต้องได้เป็นนักฟุตบอลทีมชาติในอนาคต ยุวชนส่วนใหญ่  มีความใฝ่ฝันจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพในสังกัดสโมสรในประเทศไทยมากที่สุดคือ สโมสรขอนแก่นเอฟซี    สอดคล้องกับสโมสรขอนแก่นเอฟซีเป็นสโมสรที่ยุวชนส่วนใหญ่ชื่นชอบที่สุด สโมสรต่างประเทศที่ยุวชนส่วนใหญ่ ใฝ่ฝันจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพในสังกัดมากที่สุดคือ สโมสรแมนยูไนเต็ด   สอดคล้องกับสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ชื่นชอบที่สุด
          ความคาดหวังของยุวชนต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซียพบว่า ยุวชนส่วนใหญ่ เคยเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย เนื่องจากทางโครงการฯ   ได้จัดทำฐานข้อมูลของยุวชนสำหรับติดต่อและแจ้งข่าวสาร ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ เคยเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่ของที่อื่น เนื่องจากมีความสนใจในการเล่นฟุตบอลเป็นทุนเดิม ยุวชนส่วนใหญ่ รับทราบข่าวสารของโครงการฯ ผ่านครู ยุวชนส่วนใหญ่มีความเห็นว่าแรงจูงใจในการเข้าฝึกอบรมในโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย คือต้องการเล่นฟุตบอลให้เก่งๆ ยุวชนส่วนใหญ่  มีความเห็นว่า การเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย มีส่วนช่วยให้ตนเองเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้ สอดคล้องกับผลการทำ focus group  ซึ่งยุวชน ตอบว่า การเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่ บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย มีประโยชน์ได้ออกกำลังกาย ได้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเล่นฟุตบอล และข้อสำคัญคือได้เพื่อน  ยุวชนทั้งหมด มีความสนใจจะเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซียในครั้งต่อไปและผลจากการทำ focus group ยุวชนส่วนใหญ่ 8 ใน 10  มีความเห็นว่าการอบรมนี้ดีแล้ว และอยากให้มีการต่อเนื่องเพื่อตนเอง จะได้มาเข้าร่วมต่อไป ยุวชนส่วนใหญ่ มีความเห็นว่า การจัดโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ มีความเหมาะสมมากที่สุด ทั้งหมดมีความสนใจเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่บางกอกกล๊าส – บัณฑิตเอเซียในอนาคต   
ข้อมูลทั่วไปของผู้ปกครอง พบว่า ยุวชนส่วนใหญ่ เป็นเพศชาย มากกว่า เพศหญิง   ยุวชนส่วนใหญ่ อายุมากกว่า 36  ปี ส่วนใหญ่ มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 15,001 – 20,000 บาท ส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรสคู่   ส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่ของยุวชน
ทัศนคติของผู้ปกครองต่อกีฬาฟุตบอล พบว่าผู้ปกครองทั้งหมดชอบกีฬาฟุตบอล  เนื่องจาก 
ทำให้ร่างกายแข็งแรงและ ส่วนใหญ่มีความสุขและภาคภูมิใจในการเล่นฟุตบอล ส่วนใหญ่เคยเล่นฟุตบอล และ เคยประสบความสำเร็จสูงสุดจากการเล่นฟุตบอลในระดับเป็นนักกีฬาสีของโรงเรียน      สอดคล้องกับ กอร์ดอน อัลพอร์ท (Gordon Allport, 1975) ที่กล่าวว่า การเกิดทัศนคติเกิดจากการเลียนแบบ หรือรับเอาทัศนคติของผู้อื่นมาเป็นของตน เช่น เด็กอาจรับทัศนคติของบิดามารดา หรือ ครูที่ตนนิยมชมชอบมาเป็นทัศนคติของตนได้  ดังจะเห็นได้ว่าผู้ปกครองชอบเล่นฟุตบอลและเคยเป็นนักฟุตบอล จึงส่งผลให้ยุวชนชอบเล่นฟุตบอลด้วยเช่นกัน        
ความคาดหวังของผู้ปกครองต่อยุวชนด้านกีฬาฟุตบอล พบว่า ผู้ปกครองทั้งหมด คาดหวัง
ให้ยุวชนเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพในระดับโลก รองลงมาใฝ่ฝันอยากให้ยุวชนเป็นนักฟุตบอลระดับชาติ  สอดคล้องกับผลการทำ focus group ผู้ปกครอง6 ใน 10 กล่าวว่า มีความใฝ่ฝันอยากให้บุตรหลานได้เป็นฟุตบอลมืออาชีพ ติดทีมชาติไทย ส่วน 4 ใน 10  กล่าวว่าไม่ได้คิดอะไรขอให้ลูกได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้ออกกำลังกาย และมีสุขภาพดีมีความรู้เรื่องวิธีการเล่นฟุตบอลที่ถูกต้องและเทคนิคต่างๆ
ความคาดหวังของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย พบว่า เหตุผลที่ผู้ปกครองส่งยุวชนมาเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่ บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย เพราะความเชื่อมั่นในผู้ฝึกสอน สอดคล้องกับยุวชนส่วนใหญ่ที่มีความเห็นว่า มาอบรมแล้วไม่ผิดหวัง และพอใจอาจารย์ผู้สอน  
ความพึงพอใจต่อโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย ผู้ปกครองส่วนใหญ่พึงพอใจมากที่สุดต่อโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย  สอดคล้องกับผลการทำ focus group ซึ่งผู้ปกครอง10 ใน 10  มีความพอใจที่ได้นำลูกมาเข้าโครงการอบรมฯ   และ 10 ใน10 กล่าวว่า โครงการฯนี้มีประโยชน์มาก ช่วยให้บุตรหลานใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  ไม่อยากให้ลูกหลานติดเกมส์ และได้เพื่อน

สรุปผล
คณะผู้วิจัยสามารถสรุปผลที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการศึกษาได้ดังนี้ 
1.ทัศนคติและความคาดหวังของยุวชนต่อกีฬาฟุตบอล  ยุวชนทั้งหมดชอบกีฬาฟุตบอล เนื่องจากทำให้ร่างกายแข็งแรง    ยุวชนมีความคาดหวังว่าตนเองจะได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพในระดับชาติ และมีความใฝ่ฝันที่จะเล่นฟุตบอลอาชีพในสังกัดสโมสรจังหวัดหรือท้องถิ่นของตนเอง   ยุวชนทั้งหมด มีความสุขและภาคภูมิใจที่ได้เล่นฟุตบอล  
2.ทัศนคติและความคาดหวังของยุวชนต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่  การเข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย มีส่วนช่วยให้ตนเองเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้และยังมีประโยชน์ได้ออกกำลังกาย ได้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเล่นฟุตบอล และข้อสำคัญคือได้เพื่อน
3.ทัศนคติและความคาดหวังของผู้ปกครองต่อยุวชนที่เข้าร่วมโครงการอบรมฟุตบอล      
อะคาเดมี่ ผู้ปกครองทั้งหมดชอบกีฬาฟุตบอล  เนื่องจาก ทำให้ร่างกายแข็งแรงและ ส่วนใหญ่มีความสุขและภาคภูมิใจในการเล่นฟุตบอล  ผู้ปกครองทั้งหมด คาดหวังให้ยุวชนเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพในระดับโลก รองลงมาใฝ่ฝันอยากให้ยุวชนเป็นนักฟุตบอลระดับชาติ
4.ความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อโครงการอบรมฟุตบอลอะคาเดมี่ ผู้ปกครองส่วนใหญ่พึงพอใจมากที่สุดต่อโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย

ข้อเสนอแนะสำหรับการนำผลการวิจัยไปใช้
          1.ควรมีการจัดโครงการโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มเติมในช่วงเวลาวันเสาร์-อาทิตย์ และช่วงเวลาปิดเทอม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการฝึก การพัฒนาทักษะ ความแข็งแกร่งของร่างกาย และการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ อันจะนำมาซึ่งความห่างไกลยาเสพติด และแก้ปัญหาการติดเกมส์
2.ควรเปิดสนามให้ใช้ในวันธรรมดาเพื่อยุวชนจะได้มาฝึกซ้อมและ ควรมีการพัฒนาสนามให้มีความพร้อม สามารถรองรับการฝึกซ้อมของยุวชน เช่น การติดสปอร์ตไลต์ที่บริเวณสนามเพื่อให้มีแสงสว่างเพียงพอ เป็นต้น

ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป
           1.ควรมีการสำรวจช่องทางสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และตอบสนองความต้องการของผู้ปกครองมากที่สุด เพื่อให้การสื่อสารข่าวสารของโครงการฯมีประสิทธิภาพและได้รับความพึงพอใจมากที่สุด
           2.ควรมีการศึกษาประสิทธิภาพของโปรแกรมการฝึกอบรมของโครงการอบรมฟุตบอล อะคาเดมี่บางกอกกล๊าส-บัณฑิตเอเซีย  เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงโปรแกรมการฝึกต่อเนื่องต่อไปในอนาคต

กิตติกรรมประกาศ
งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิศิษย์เก่าโรงเรียนกุมภวาปีและนายกมล จันทะชุม

เอกสารอ้างอิง
1.คลังปัญญาไทย. กีฬาฟุตบอล. เผยแพร่ทาง www.panyathai.or.th.สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2554.
2.ชาติกล้า  ทรัพย์ทรงพล. (2554). ประวัติกีฬาฟุตบอล. เผยแพร่ทางhttp://kuka-academy.blogspot. com/  สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2554.
3.วินัย อินทรชิต. (2550). ระดับทักษะฟุตบอลของนักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในเขตพื้นที่การศึกษาอุทัยธานี ปีการศึกษา 2550. ปริญญานิพนธ์ กศ.. (พลศึกษา). กรุงเทพฯ :บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
4.วิรัช   ทิพม่อม. (2550). รายงานการพัฒนาประสิทธิภาพแผนการจัดการเรียนรู้  วิชาพลศึกษากลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษา และพลศึกษา เรื่อง ฟุตบอล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านขี้เหล็กเหล่าสมบูรณ์.
5.สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2549). หนังสือที่ระลึก 90 ปี สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์.
6.สุพิตร สมาหิโต, ชัย นิมากร และนนชัย ศานติบุตรกุล. (2547) . แนวทางการพัฒนานักกีฬาอาชีพภายใต้การสนับสนุนและส่งเสริมของภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเป็นระบบ: กรณีศึกษากีฬาเทนนิสอาชีพและกีฬาฟุตบอลอาชีพ. ได้รับทุนอุดหนุนวิจัยจากคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา  สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา.
7.Cushion, C .(2001). The coaching process in professional youth football:  Anethnography of    practice.ดุษฎีนิพนธ์. เผยแพร่ทาง http://bura.brunel.ac.uk/handle/2438/5138 สืบค้นเมื่อ 16มิถุนายน 2554.
8.Gordon Allport . (1975). การเกิดทัศนคติ. เผยแพร่ทาง http://www.novabizz.com. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2554.
9.Krech and Crutchfield. (1948). ทัศนคติ. เผยแพร่ทาง http://www.novabizz.com/NovaAce/Attitude.htm. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2554.

การเผยแพร่
งานวิจัยฉบับนี้ได้รับการตีพิมพ์ในรายงานสืบเนื่องจากการประชุม(แบบบรรยาย) ในการประชุมวิชาการระดับชาติราชภัฏสุราษฎร์ธานีวิจัย ครั้งที่ 7 "การวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น" (Area Based Research for Community Development) วันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2554 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จัดโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยและเครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน

ภาพประกอบ






 

บทคัดย่อเรื่องระดับความเครียดและกลวิธีเผชิญความเครียดของนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ขณะขึ้นฝึกปฏิบัติการพยาบาลมารดาและทารก


ระดับความเครียดและกลวิธีเผชิญความเครียดของนักศึกษาพยาบาลศาสตร์
ขณะขึ้นฝึกปฏิบัติการพยาบาลมารดาและทารก

ฐานิกา  บุษมงคล, ทิพวัลย์  ด่านสวัสดิกุล, ปิยาภรณ์   ภูพุฒ, พฤกษชาติ ฤชัย และอุมาพร เคางาม 
วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย, 2552

บทคัดย่อ
                ความเครียดเป็นสิ่งที่บุคคลไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การเรียนการสอนภาคปฏิบัติเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถก่อให้เกิดความเครียดต่อนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ได้ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความเครียดและกลวิธีในการเผชิญความเครียดของนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ที่ขึ้นฝึกปฏิบัติการพยาบาลมารดาและทารก โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 3 ที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลมารดาและทารก จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล และแบบวัดความเครียด ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ และร้อยละ
                ผลการวิจัยพบว่า ก่อนการขึ้นฝึก นักศึกษาพยาบาลศาสตร์มีระดับความเครียดมากร้อยละ 15 เครียดสูงกว่าปกติเล็กน้อยร้อยละ 25 หลังการขึ้นฝึกนักศึกษาพยาบาลมีระดับความเครียดปกติ/ไม่เครียดร้อยละ 85 กลวิธีเผชิญความเครียดที่ใช้มากที่สุดคือ การฟังเพลงและดูทีวี, การไปเที่ยวกับเพื่อนๆ และการพูดระบายความรู้สึกกับเพื่อน
                ผลการศึกษาสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาหาแนวทางในการลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดของนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ที่ขึ้นฝึกปฏิบัติการพยาบาลบนหอผู้ป่วยต่อไป

คำสำคัญ: ระดับความเครียด, กลวิธีเผชิญความเครียด, นักศึกษาพยาบาลศาสตร์, ปฏิบัติการพยาบาลมารดาและทารก


Stress Level and Coping Strategies of Nursing Student during the Maternal and Child Practicum Course 

Thanika  Busmongkhol, Tippawan  Dansawadikul, Piyapron Phoophut, Prueksachart Reuchai  
and Umaporn Koungam
College of Asian Scholars, 2009

ABSTRACT
                Stress is unavoidable for an individual. Clinical learning is one factor that can course stress to nursing students. The objectives of this study were examined stress levels, and coping strategies of nursing students who were practicing in the maternal and child practicum course. The sample was 20 third-year nursing students enrolling in the maternal and child practicum course.  The research instruments include the personal information questionnaire and the stress questionnaire that developed from DASS Stress Scale. Data were analyzed by frequency and percentage.
                Research finding revealed that in the first day stress level of nursing students is severe stress 15 %, moderate stress 25% normal stress    while in the last day stress level of nursing students is normal stress 85 %. And highest coping strategies that were listen music and watch TV, join and talk  with friends.
                Findings from this study can be used as information for consideration to reduce stress level of nursing students in clinical practice. The findings can also be used to enhance clinical learning of nursing students.

Keywords: Stress level, Coping strategies, Nursing student, the maternal and child practicum course



บทความวิจัยเรื่อง ความสุขของอาจารย์

ความสุขของอาจารย์
HAPPINESS OF TEACHER  

ฐานิกา  บุษมงคล1 , นุชรินทร์  ศรีตัน2, อริยา  ไชยดำรงค์3, ดวงดารา  อรปัญญา4 , วรรณศิริ  ฮามพิทักษ์5
1 อาจารย์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย
2-5 พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลขอนแก่น

บทคัดย่อ
ความสุขเป็นความรู้สึกองค์รวมที่สามารถส่งผ่านเครือข่ายทางสังคมได้ ดังนั้นการที่อาจารย์มีความสุข ย่อมนำไปสู่การจัดการเรียนการสอนที่ผู้เรียนมีความสุขได้  การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์  เพื่อวัดระดับความสุขของอาจารย์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย  กลุ่มตัวอย่างเป็นอาจารย์ประจำ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย  จังหวัดขอนแก่น จำนวน 44 คน  โดยใช้แบบทดสอบดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสมบูรณ์ 54 ข้อ (The New Thai Mental Health Indicator: TMHI-54)   ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการจำแนกระดับความสุขของกลุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบกับเกณฑ์ปกติ พบว่า อาจารย์ประจำ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย ส่วนใหญ่มีระดับความสุขมากกว่าคนทั่วไป

คำสำคัญ: ความสุข, อาจารย์

Abstract
Happiness is a sense of God and can pass through social networks. Happiness of teacher would lead to happy teaching and learning at the school. This study aimed to measure happiness levels of teachers at College of Asian Scholars. Khon Kaen. The sample was 44 teachers from College of Asian Scholars. Khon Kaen.  The tool was The New Thai Mental Health Indicator: TMHI-54. Analysis by the percentage, the average and standard deviation.  The study was finding that the most of  teachers  were happy more than people.

Keyword: Happiness, Teacher

บทนำ
                ความสุข เป็นสุดยอดปรารถนาของมนุษย์ (พุทธทาสภิกขุ, 2542) พระราชาธิบดี จิกเม ซิงเย วังชุก กษัตริย์แห่งประเทศภูฏาน ทรงริเริ่มแนวคิดการพัฒนาประเทศโดยให้ความสำคัญกับความสุขมากกว่าการให้ความสำคัญกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว (Kiwako Okuma Nystrom, 2011) สำหรับในประเทศไทย นายแพทย์ประเวศ วะสี (2548) ได้เสนอแนวคิด ความอยู่เย็นเป็นสุขของสังคมไทย ซึ่งประกอบมิติทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและจิตใจ
การจัดการศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ (มหาวิทยาลัย  ราชภัฏสวนสุนันทา, 2554)   อาจารย์ คือครูผู้สอนในระดับอุดมศึกษา หมายถึง บุคคลที่มีหน้าที่ หรือมีอาชีพในการสอนผู้เรียน เกี่ยวกับวิชาความรู้ หลักการคิดการอ่าน รวมถึงการปฏิบัติและแนวทางในการทำงาน อาจารย์นับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์  โดยเป็นผู้ให้การศึกษาเรียนรู้ ทั้งในด้านวิชาการ และประสบการณ์  การที่อาจารย์จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดีได้นั้น อาจารย์ต้องมีชีวิตที่มีความสุข ทั้งในด้านปัจจัยของการดำรงชีวิต และการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานและ ทำให้สามารถทำงานอย่างมีความสุข   เพื่อให้เกิดแรงผลักดันในการที่จะทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
 จากการศึกษาของ ศรีวรรณา  พูลสรรพสิทธิ์ และคณะ (2547) พบว่า การเฝ้าระวังสุขภาพจิต และการแก้ปัญหาสุขภาพจิตสามารถทำให้ประชาชนมีความสุขเพิ่มขึ้น และความเครียดลดลงอย่างชัดเจน  ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาว่า ระดับความสุขของอาจารย์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซียเป็นอย่างไร เพื่อเฝ้าระวังสุขภาวะของอาจารย์  และนำผลจากการศึกษาวิจัยมาเป็นข้อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาความสุขของอาจารย์  ภายใต้ความเชื่อที่ว่า เมื่ออาจารย์มีความสุขแล้ว  ย่อมนำไปสู่การทำงานและบริการประชาชนในด้านการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ท้ายที่สุดแล้วก็จะนำมาซึ่งประชาชนที่มีคุณภาพ อันจะส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าและการพัฒนาประเทศต่อไป

วัตถุประสงค์
                เพื่อศึกษาระดับความสุขของอาจารย์   

ขอบเขตของการวิจัย
                1. ขอบเขตประชากร การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาระดับความสุขของอาจารย์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย  ซึ่งปฏิบัติงานที่วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย  ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป   
                2. ขอบเขตตัวแปร การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาระดับความสุขของอาจารย์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย โดยมีตัวแปรที่ทำการศึกษาคือ ความสุขของอาจารย์
                3. ขอบเขตเวลา ทำการศึกษาระหว่างวันที่ 15 ถึง 22 สิงหาคม 2552 

การทบทวนวรรณกรรม
               1.  แนวคิดหลักการทฤษฎีที่เกี่ยวข้องนับจากอดีตถึงปัจจุบัน มีนักปรัชญาได้อธิบายเกี่ยวกับความสุข ไว้หลายแนวคิดเริ่มจากปรัชญาเมธีชาวกรีก อริสโตเติล กล่าวว่า ความดีคือความสุข(Happiness)  ความดีกับความสุขเป็นสิ่งเดียวกัน  สอดคล้องกับแนวความคิดเกี่ยวกับความสุขของ นักปรัชญาจิตนิยมของกรีกเพลโตเป็นอย่างมาก  เพลโตเชื่อว่า ถ้าคนเราทำตามความพอใจแล้วมีความสุข ทำตามใจชอบโดยไม่คำนึงถึงเหตุผล ไม่ใช้ปัญญา หรือคุณธรรมย่อมนำมาซึ่งความหายนะ เพลโตให้คุณค่าของการแสวงหาความสุขทางจิตใจมากกว่าการแสวงหาความสุขทางกาย    เพลโตจึงไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดของสำนักโซฟิสต์ที่กล่าวว่า ความดีคือ ความพอใจ คือความสุขสำราญ(Pleasure)   มายเออร์ สวีนี่และวิทเมอร์ ก็ได้เสนอ กงล้อแห่งความผาสุก หรือ ความสุขสบาย(wheel and wellness) เพื่อเป็นรูปแบบในการรักษาแบบองค์รวมโดยรวมเอาหลักการ ผลจากการศึกษาวิจัยทางการแพทย์  สังคมและจิตวิทยา  มาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาความเป็นอยู่อันดีของบุคคลตลอดทุกช่วงชีวิต  เป็นการเน้นการป้องกัน  การพัฒนาแบบองค์รวม  อันเป็นทิศทางใหม่ในการดูแลสุขภาพ กงล้อแห่งความผาสุกหรือความสุขสบายของบุคคลประกอบด้วยงานชีวิต 5 ด้าน คือ1) จิตวิญญาณ เป็นการตระหนักรู้ เป็นความรู้สึกที่ลึกซึ้งถึงความเป็นหนึ่งเดียวหรือรู้สึกเชื่อมโยงกับจักรวาล เป็นความเชื่อ ค่านิยม ศาสนา เป็นลักษณะที่เป็นแกนของบุคคลที่มีสุขภาพดี เป็นแหล่งของมิติต่างๆ ของความสุขสบายอื่นๆ เช่น การทำกิจกรรมทางศาสนาหรือการฝึกทางจิตวิญญาณอื่นๆ  2) การให้ทิศทางแก่ตนเองเพื่อไปสู่เป้าหมายระยะยาว ประกอบด้วย  ความรู้สึกในคุณค่าแห่งตน   การควบคุมตนเอง  ความเชื่อสอดคล้องกับความเป็นจริง ตระหนักในอารมณ์ของตนเองและจัดการกับสิ่งนี้ได้  การแก้แก้ปัญหาและความคิดสร้างสรรค์  อารมณ์ขัน  โภชนาการ  การออกกำลังการดูแลตนเอง การจัดการความเครียด  เอกลักษณ์ทางเพศ และ เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม  3) งานและเวลาว่าง  4) มิตรภาพ  และ 5) ความรัก  กงล้อแห่งความผาสุกหรือความสุขสบายเป็นการรวบรวมลักษณะของคนสุขภาพดีตลอดช่วงชีวิตช่วยเป็นพื้นฐานในการพัฒนามนุษย์เพื่อให้มีความเป็นอยู่อันดีโดยมีพื้นฐานจากจุดแข็งและทรัพยากรในตัวบุคคลและอาจมีการปรับเปลี่ยนแบบการดำเนินชีวิตบางด้าน  สรุปได้ว่ากระบวนทัศน์ของความสุขที่กล่าวมาทั้งหมดมีลักษณะหลายอย่างร่วมกันและมีความคล้ายคลึงกันโดยการเน้นอารมณ์ทางบวก ความสามารถในการควบคุมตนเองและการมีความสัมพันธ์ที่เหมาะสมเป็นต้น มีข้อแตกต่างระหว่างโลกตะวันตกโลกและตะวันออกเกี่ยวกับกระบวนทัศน์ทางความสุข ตะวันออกจะเน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากกว่าโดยให้ความสำคัญกับครอบครัวและสังคม ขณะที่กระบวนทัศน์ทางตะวันตกเน้นที่ตัวบุคคล (ศิริบูรณ์  สายโกสุม, 2550)   
2.  งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความสุขมีผู้ได้ศึกษาไว้ดังนี้
สมชาย จักรพันธุ์ ได้ทำการสำรวจความสุขของคนไทยปี 2548 ในเขตกรุงเทพ และภูมิภาค 19 เขตราชการ จำนวน 3,340 ตัวอย่าง โดยใช้แบบประเมินดัชนีชี้วัดความสุขคนไทยของ อภิชัย มงคลและคณะ(2547) 15 ข้อ พบว่าคนไทยส่วนใหญ่มีความสุขในระดับปกติ เพศชายมีความสุขในระดับมาก มากกว่าเพศหญิง ผู้ที่แต่งงานแล้วมีความสุขมากกว่าคนโสด ภาคอีสานมีความสุขมากที่สุด ภาคใต้มีระดับความสุขน้อยที่สุด จังหวัดที่มีความสุขมากที่สุดคือมหาสารคาม กลุ่มที่มีความสุขน้อยที่สุด คือ กลุ่มคนว่างงานร้อยละ 52.22  ผลการวิจัยพบว่าระดับความสุขของคนไทยที่สำรวจในปี 2548 น้อยกว่าระดับความสุขของคนไทยที่สำรวจเมื่อปี 2546  สิ่งที่ทำให้คนไทยมีความสุข 10 อันดับแรก คือ 1)การมีชีวิตครอบครัวที่ไม่แตกแยก 2) มีเงินพอใช้ไม่เป็นหนี้     3) การได้อยู่กับคนที่รัก 4) การไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ 5) เหตุการณ์บ้านเมืองสงบสุข  6.เป็นที่ยอมรับของคนรอบข้าง 7) การได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ 8) การมีสภาพแวดล้อมที่ดี  9) การมีชีวิตปลอดภัยในสังคม และ 10) สังคมมีคุณธรรมจริยธรรม   ต่อมาในปี 2549  อรุณี อุณหะวรากร ได้ทำการศึกษาความสุขจากการเสียสละ โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสุขที่ถูกกำหนดจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ เพศ อายุ การศึกษา สถานภาพสมรส และการเสียสละ โดยใช้ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับใหม่ ของอภิชัย มงคลและคณะ(2547)  มาวิเคราะห์ข้อมูลผลการศึกษาพบว่า ผู้ชายมีค่าเฉลี่ยคะแนนความสุขมากกว่าผู้หญิง ช่วงอายุ 41 -60 ปีมีค่าเฉลี่ยคะแนนความสุขมากกว่าช่วงอายุ 15-40 ปี   เขตชนบทมีค่าเฉลี่ยคะแนนความสุขมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ   สถานภาพสมรสคู่มีความสุขมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ  สำหรับผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสุขและการเสียสละ พบว่า มีความสัมพันธ์ต่อกันในทิศทางบวก   ในปีเดียวกัน กรมสุขภาพจิต ร่วมกับสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ได้ทำการศึกษาดัชนีความสุขมวลรวม(Gross Domestic Happiness Index) ของคนไทยประจำเดือนสิงหาคม : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชน 25 จังหวัดของประเทศ จำนวน 4864 คน ทำการศึกษาระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม – 12 กันยายน 2549 ผลการศึกษา พบว่า ความสุขคนไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีต่อปัจจัยสำคัญ 10 อันดับแรก ไก้แก่ ความสุขต่อวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีไทย และความจงรักภักดี ได้คะแนนความสุขเฉลี่ยเท่ากับ8.07 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน อันดับสอง ได้แก่ สายสัมพันธ์ของคนในครอบครัวได้ 8.02 คะแนน อันดับสามได้แก่ สุขภาพกาย ได้ 7.71 คะแนน อันดับสี่ ได้แก่ ความพึ่งพอใจในการทำงาน ได้ 7.16 คะแนน อันดับห้า ได้แก่ ธรรมชาติและการจัดสรรทรัพยากร ได้ 6.88 คะแนน อันดับที่หก ได้แก่ สุขภาพใจ ได้ 6.72 คะแนน อันดับเจ็ด ได้แก่ ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ได้ 6.58 คะแนน อันดับแปด ได้แก่ ระบบการศึกษาของประเทศ ได้ 6.54 คะแนน อันดับเก้า ได้แก่หลักเศรษฐกิจพอเพียง ได้ 6.33 คะแนน และเรื่องของความยุติธรรมทางสังคมผ่านกระบวนการยุติธรรม ได้ 6.33 เท่ากัน   ในปี 2550 ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ และพิริยะ ผลพิรุฬห์ได้ทำการศึกษาเรื่องความสุขกายสบายใจของคนเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาลักษณะของความสุขทางใจและความสุขทางกาย เปรียบเทียบระหว่างคนในภาคต่าง ๆ และตัวอย่างที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองและเขตชนบทศึกษาจากข้อมูลอภิชัย มงคลและคณะ (2547) ในการวิจัยเรื่อง พัฒนาและทดสอบดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับใหม่ ผลการศึกษา พบว่า ประชากรเขตชนบทตอบว่า มีความสุข (สุขมากที่สุด สุขมาก) มากกว่าประชากรเขตเมือง และประชากรที่ตอบว่ามีความสุขเมื่อจำแนกตามพื้นที่ พบว่า ภาคเหนือมีความสุขมากที่สุด ต่อมา อภิชัย  มงคล  และคณะ  (2551)  ได้ทำการสำรวจความสุขคนไทย ปี พ.ศ.2548  เพื่อสำรวจความสุขของบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข สำรวจความสุขของประชาชน และเปรียบเทียบความสุขของประชาชนจากการสำรวจในปี พ.ศ.2546 และปี พ.ศ.2548 กลุ่มตัวอย่าง 4,500 คน จำแนกเป็นบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 1,500 คน และประชาชนในพื้นที่ที่มีหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขตั้งอยู่ จำนวน 3,000 คน สุ่มตัวอย่างโดยใช้วิธีการแบ่งกลุ่มหลายขั้นตอน  เครื่องมือที่ใช้ คือ ดัชนีชี้วัดความสุขคนไทยฉบับสั้น 15 ข้อ ของอภิชัย  มงคล และคณะ(2547) วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่  ร้อยละ  ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  ผลการวิจัยพบว่าระดับความสุขของบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข  ส่วนใหญ่มีความสุขเท่ากับคนทั่วไป  ระดับความสุขของประชาชนพบว่าส่วนใหญ่มีความสุขเท่ากับคนทั่วไป  และพบว่าระดับความสุขของประชาชนในปี พ.ศ.2548 ลดลงกว่า ปี พ.ศ. 2546
จากการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่ายังไม่มีผู้ใดทำการศึกษาความสุขของอาจารย์  คณะผู้ศึกษาจึงมีความสนใจที่จะศึกษาความสุขของอาจารย์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรม เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมต่อไป

วิธีดำเนินการวิจัย
                1. ระเบียบวิธีวิจัย งานวิจัยฉบับนี้มุ่งการศึกษาระดับความสุขของอาจารย์ โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) มีวิธีการดำเนินการ ดังนี้
                2. ขั้นตอนการวิจัย  ในการศึกษาครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับสุขของอาจารย์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย จังหวัดขอนแก่น  ผู้ศึกษาใช้แนวคิดทฤษฎีระบบเป็นกรอบแนวคิดของการศึกษา   มีขั้นตอนการศึกษาดังนี้
                                2.1   ปัจจัยนำเข้า (Input) มีดังนี้ 1) ความเชื่อที่ว่า อาจารย์ คือครูผู้สอนที่มีหน้าที่ ในการสอนผู้เรียน เกี่ยวกับวิชาความรู้ หลักการคิดการอ่าน ความสุขมีผลทำให้อาจารย์มีการจัดการสอนที่ดี หากอาจารย์ไม่มีความสุขทั้งปัจจัยภายในและภายนอก จะส่งผลให้การจัดการเรียนการสอนไม่เกิดประสิทธิภาพ 2) การทบทวนวรรณกรรม    3) กลุ่มตัวอย่างคืออาจารย์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย จังหวัดขอนแก่น ปีการศึกษา 2551   4 ) ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสมบูรณ์ 54 ข้อ กรมสุขภาพจิต  กระทรวงสาธารณสุข
                              2.2   กระบวนการ (Process) มีดังนี้ ขั้นตอนที่ 1   ชี้แจงเรื่องการวิจัยและการใช้แบบสอบถาม    ขั้นตอนที่ 2 เปิดโอกาสให้กลุ่มตัวอย่างซักถาม ขั้นตอนที่ 3   แจกแบบสอบถามโดยใช้ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทย   ฉบับสมบูรณ์ 54 ข้อ และตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของแบบสอบถาม ขั้นตอนที่ 4    เก็บแบบสอบถามกลับคืนและตรวจสอบความถูกต้อง ขั้นตอนที่ 5   วิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผลการศึกษา
                              2.3  ผลผลิต (Output) คือ ระดับความสุขของอาจารย์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย   จังหวัดขอนแก่น
                3.  การรวบรวมข้อมูล ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล ตามขั้นตอนต่อไปนี้
                                3.1 ทำหนังสือขออนุญาตเก็บรวบรวมข้อมูลจากอธิการบดี   วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย
                            3.2 ติดต่อขอความร่วมมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลกับอาจารย์ประจำ  วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย จังหวัดขอนแก่น
                                3.3 ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล  ระหว่างวันที่  15 ถึง 22  สิงหาคม  2552  
                              3.4 ผู้วิจัยได้ทำการแจกแบบสอบถาม ซึ่งก่อนแจกแบบสอบถาม ผู้วิจัยแนะนำตัวและรายละเอียดของแบบสอบถาม พร้อมทั้งถามความสมัครใจของผู้ตอบแบบสอบถาม การแจกแบบสอบถามได้แจกตามรายชื่อบุคลากรในวิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย จำนวน 44 ชุด และผู้วิจัยไปรับแบบสอบถามคืนด้วยตนเอง
                4.  การวิเคราะห์ข้อมูลและวิธีทางสถิติที่ใช้
                                4.1สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบน มาตรฐาน 
                                4.2 การให้คะแนนและการแปลผลค่าปกติ (norm)  การให้คะแนนและการแปลผลค่าปกติ (norm)ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสมบูรณ์ 54 ข้อ (TMHI – 54)  มีการให้คะแนนแบบประเมิน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม  โดยกลุ่มที่ 1 เป็นข้อความทางบวก ได้แก่ข้อ 1, 2, 3, 4, 14, 15, 16, 17, 18, 19, 20, 21, 22, 23,24, 29, 30, 31, 32, 33, 34, 35, 36, 37, 38, 39, 40, 41,42, 43, 44, 45, 46, 47, 48, 49, 50, 51, 52, 53, 54  แต่ละข้อให้คะแนนดังนี้ ไม่เลย =0 คะแนน เล็กน้อย = 1 คะแนน มาก = 2 คะแนน และมากที่สุด = 3 คะแนน  กลุ่มที่ 2 เป็นข้อความทางลบ ได้แก่ข้อ 5, 6, 7, 8, 9, 10, 11,12, 13, 25, 26, 27, 28, แต่ละข้อให้คะแนนดังนี้  ไม่เลย = 3 คะแนน  เล็กน้อย = 2 คะแนน มาก = 1 คะแนน  และ มากที่สุด = 0 คะแนน
                                4.3 การแปลผลการประเมิน ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสมบูรณ์ 54 ข้อ มีคะแนนเต็มทั้งหมด 162 คะแนน เมื่อผู้ตอบได้ประเมินตนเองแล้ว และรวมคะแนนทุกข้อได้คะแนนเท่าไร สามารถนำมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ปกติที่กำหนด ดังนี้ (อภิชัย มงคลและคณะ, 2547)
                                                118-162  คะแนน  หมายถึงมีความสุขมากกว่าคนทั่วไป (Good)
                                                99-117    คะแนน  หมายถึงมีความสุขเท่ากับคนทั่วไป (Fair)
                                                       98     คะแนนหรือน้อยกว่า   หมายถึงมีความสุขน้อยกว่าคนทั่วไป (Poor)
ผลการวิจัย
ผลการศึกษาลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-40 ปี   ร้อยละ  52.27   เพศหญิงมากกว่าเพศชายร้อยละ 75.00   สถานภาพสมรสคู่ร้อยละ 50.00   สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทร้อยละ 90.90   ดังตาราง 1

ตาราง  1 จำนวนและร้อยละของกลุ่มตัวอย่าง จำแนกตามลักษณะทางประชากร

ตัวแปร
จำนวน N=44
ร้อยละ
ตัวแปร
จำนวน N=44
ร้อยละ
อายุ
20-40            ปี
41-60  ปี
61 ปีขึ้นไป
  
สถานภาพ
   โสด
   สมรส
   หย่าร้าง
    หม้าย

23
17
4


20
22
 1
 1

52.27
38.64
  9.09


45.46
50.00
2.27
2.27
เพศ
  ชาย
  หญิง


ระดับการศึกษา
   ปริญญาตรี
   ปริญญาโท
   ปริญญาเอก

11
33



2
40
 2

25.00
75.00



4.55
90.90
4.55

ผลการจำแนกระดับความสุขของกลุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบกับเกณฑ์ปกติ พบว่า อาจารย์ประจำ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซียส่วนใหญ่มีระดับความสุขมากกว่าคนทั่วไป   คิดเป็นร้อยละ  63.60โดยจำแนกเป็นเพศหญิงเป็นเพศชาย รองลงมาคือ มีระดับความสุขเท่ากับคนทั่วไป   คิดเป็นร้อยละ 34.10 โดยจำแนกเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และมีระดับความสุขน้อยกว่าคนทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 2.30 ดังตาราง 2

ตาราง   2     การจำแนกระดับความสุขของอาจารย์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย
      
ระดับคะแนน
ระดับความสุข
เพศ
ชาย       หญิง
จำนวน N=44
ร้อยละ
118-162
ความสุขมากกว่าคนทั่วไป
7          21
28
63.60
99-117
ความสุขเท่ากับคนทั่วไป
11            4
15
34.10
92-98
ความสุขน้อยกว่าคนทั่วไป
-              1
  1
2.30

ผลการสำรวจและประเมินเหตุการณ์ อาการหรือความคิดเห็นและความรู้สึกของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า สิ่งที่ทำให้อาจารย์ประจำ  วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย   มีความสุขมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ  1) หากป่วยหนักแล้วเชื่อว่าจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากครอบครัว (ค่าเฉลี่ย 2.70)   2) สามารถแก้ปัญหาส่วนใหญ่ได้ (ค่าเฉลี่ย2.60)   3) รู้สึกมั่นคง ปลอดภัยเมื่ออยู่ในครอบครัว (ค่าเฉลี่ย2.60)   ดังตาราง 3

ตาราง    3   ค่าคะแนนเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทย

ความคิดเห็น
x
S.D.
1. ท่านรู้สึกพึงพอใจในชีวิต
2.30
0.6
2. ท่านรู้สึกสบายใจ
2.20
0.7
3. ท่านรู้สึกสดชื่นเบิกบานใจ
2.10
0.7
4. ท่านรู้สึกชีวิตของท่านมีความสุขสงบ(ความสงบสุขในจิตใจ)
2.20
0.8
5. ท่านรู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้กับการดำเนินชีวิตประจำวัน
2.40
0.5
6. ท่านรู้สึกผิดหวังในตัวเอง
2.70
0.5
7. ท่านรู้สึกว่าชีวิตของท่านมีแต่ความทุกข์
2.70
0.5
8. ท่านรู้สึกกังวลใจ
2.30
0.6
9. ท่านรู้สึกเศร้าโดยไม่ทราบสาเหตุ
2.70
0.5
10. ท่านรู้สึกโกรธหงุดหงิดง่ายโดยไม่ทราบสาเหตุ
2.60
0.6
11. ท่านต้องไปรับการรักษาพยาบาลเสมอๆ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตและทำงานได้
2.80
0.5
12. ท่านเป็นโรคเรื้อรัง (เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพาต ลมชัก)
2.70
0.6
13. ท่านรู้สึกกังวลหรือทุกข์ทรมานใจเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของท่าน
2.80
0.4

ตาราง    3   (ต่อ)

ความคิดเห็น
x
S.D.
14. ท่านพอใจต่อการผูกมิตรหรือเข้ากับบุคคลอื่น
2.40
0.6
15. ท่านมีสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนบ้าน
2.30
0.6
16. ท่านมีสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน(ทำงานร่วมกับคนอื่น)
2.40
0.5
17. ท่านคิดว่าท่านมีความเป็นอยู่และฐานะทางสังคม ตามที่ท่านได้คาดหวังไว้
2.20
0.6
18. ท่านรู้สึกประสบความสำเร็จและความก้าวหน้าในชีวิต
2.10
0.7
19. ท่านรู้สึกพึงพอใจกับฐานะความเป็นอยู่ของท่าน
2.30
0.6
20. ท่านเห็นว่าปัญหาส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่แก้ไขได้
2.60
0.5
21. ท่านสามารถทำใจยอมรับได้สำหรับปัญหาที่ยากจะแก้ไข (เมื่อมีปัญหา)
2.40
0.5
22. ท่านมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมอารมณ์ได้ เมื่อมีเหตุการณ์คับขันหรือร้ายแรงเกิดขึ้น
2.30
0.6
23. ท่านมั่นใจที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในชีวิต
2.30
0.6
24. ท่านแก้ปัญหาที่ขัดแย้งได้
2.20
0.6
25. ท่านจะรู้สึกหงุดหงิด ถ้าสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
2.00
0.5
26. ท่านหงุดหงิดโมโหง่ายถ้าท่านถูกวิพากษ์วิจารณ์
2.20
0.6
27. ท่านรู้สึกหงุดหงิด กังวลใจกับเรื่องเล็กๆน้อยๆ ที่เกิดขึ้นเสมอ
2.40
0.6
28. ท่านรู้สึกกังวลใจกับเรื่องทุกเรื่องที่มากระทบตัวท่าน
2.40
0.7
29. ท่านรู้สึกยินดีกับความสำเร็จของคนอื่น
2.50
0.5
30. ท่านรู้สึกเห็นใจเมื่อผู้อื่นมีทุกข์
2.30
0.6
31. ท่านรู้สึกเป็นสุขในการช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อมีโอกาส
2.40
0.5
32. ท่านให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่นเมื่อมีโอกาส
2.50
0.5
33. ท่านเสียสละแรงกายหรือทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่หวังผล
2.40
0.6
34. หากมีสถานการณ์ที่คับขันเสี่ยงภัยท่านพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือร่วมกับผู้อื่น
2.30
0.7
35. ท่านพึงพอใจกับความสามารถของตนเอง
2.30
0.6
36. ท่านรู้สึกภูมิใจในตนเอง
2.40
0.6
37. ท่านมีสิ่งยึดเหนี่ยวสูงสุดในจิตใจที่ทำให้จิตใจมั่นคงในการดำเนินชีวิต
2.40
0.6
38. ท่านมีความเชื่อมั่นว่าเมื่อเผชิญกับความยุ่งยากท่านมีสิ่งยึดเหนี่ยวในจิตใจ
2.40
0.6
39. ท่านเคยประสบกับความยุ่งยากและสิ่งยึดเหนี่ยวสูงสุดในจิตใจช่วยให้ท่านผ่านพ้นไป
2.40
0.6
40. ท่านต้องการทำบางสิ่งที่ใหม่ในทางที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เดิม
2.50
0.5
41. ท่านมีความสุขกับการริเริ่มงานใหม่ๆ และมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ
2.40
0.7
42. ท่านมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในทางที่ดี
2.50
0.5
43. ท่านมีเพื่อนหรือคนอื่นๆ ในสังคมคอยช่วยเหลือท่านในยามที่ต้องการ
2.40
0.6

ตาราง    3   (ต่อ)

ความคิดเห็น
x
S.D.
44. ท่านได้รับความช่วยเหลือตามที่ท่านต้องการจากเพื่อนหรือคนอื่นๆในสังคม
2.10
0.6
45. ท่านรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยเมื่ออยู่ในครอบครัว
2.60
0.6
46. หากท่านป่วยหนัก ท่านเชื่อว่าครอบครัวจะดูแลท่านเป็นอย่างดี
2.70
0.5
47. ท่านปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากครอบครัวเสมอเมื่อท่านมีปัญหา
2.40
0.7
48. สมาชิกในครอบครัวมีความรักและผูกพันต่อกัน
2.50
0.6
49. ท่านมั่นใจว่าชุมชนที่ท่านอาศัยอยู่มีความปลอดภัยต่อท่าน
2.30
0.6
50. ท่านรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในทรัพย์สินเมื่ออาศัยอยู่ในชุมชนนี้
2.30
0.6
51. มีหน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้านที่ท่านสามารถไปใช้บริการได้
2.10
0.7
52. หน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้านสามารถไปให้บริการได้เมื่อท่านต้องการ
2.00
0.9
53. เมื่อท่านหรือญาติเจ็บป่วยจะใช้บริการจากหน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้าน
1.90
0.9
54. เมื่อท่านเดือดร้อนจะมีหน่วยงานในชุมชน(เช่น มูลนิธิ ชมรม สมาคม วัด สุเหร่า ฯลฯ) มาช่วยเหลือดูแลท่าน
1.30
0.8

อภิปรายผลการวิจัย
                ผลการศึกษาลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-40 ปี   ร้อยละ  52.27   เพศหญิงมากกว่าเพศชายร้อยละ 75.00   อาจารย์ส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรสคู่    ร้อยละ 50.00   สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Kim & McKenry (2002 อ้างถึงใน อรวรรณ   ลิขิตพรสวรรค์, 2553)  และ  อรุณี   อุนหะวรากร (2549)  ที่พบว่า สถานภาพสมรสคู่มีความสุขมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ   และส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทร้อยละ 91   
                ผลการจำแนกระดับความสุขของกลุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบกับเกณฑ์ปกติ พบว่า อาจารย์ประจำ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ภาคอีสาน  ส่วนใหญ่มีระดับความสุขมากกว่าคนทั่วไป   คิดเป็นร้อยละ  63.63 ทั้งนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาของ สมชาย จักรพันธุ์ (2549) ที่พบว่า ประชาชนในภาคอีสานมีความสุขมากที่สุดเมื่อเทียบกับประชาชนในภาคอื่นๆ    และสอดคล้องกับผลการศึกษาของ ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ และพิริยะ ผลพิรุฬห์ (2550) ที่พบว่า ประชากรในชนบทมีความสุขมากที่สุด
อย่างไรก็ตามผลการศึกษาครั้งนี้พบว่า เพศหญิงมีระดับความสุขมากกว่าคนทั่วไป มากกว่าเพศชาย ซึ่งขัดแย้งกับผลการศึกษาของ สมชาย จักรพันธุ์ (2549) และ อรุณี   อุนหะวรากร (2549)    ที่พบว่า เพศชายมีความสุขอยู่ในระดับมากกว่าเพศหญิง    
จากการศึกษาระดับความสุขของอาจารย์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย สรุปว่าอาจารย์ส่วนใหญ่มีระดับความสุขมากกว่าคนทั่วไป   โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาจารย์มีระดับความสุขมากที่สุดคือ   แรงสนับสนุนจากครอบครัว    

ข้อเสนอแนะ
                1. ข้อเสนอแนะเพื่อการนำผลการวิจัยไปใช้งาน ควรนำผลการวิจัยนี้ไปเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวังระดับความสุขและเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความสุขของอาจารย์วิทยาลัยบัณฑิตเอเซียต่อไป
                2. ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยต่อไป
2.1 ควรศึกษาความสุขของอาจารย์วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย อย่างต่อเนื่องเป็นประจำ เพื่อเฝ้าระวังระดับความสุขของอาจารย์
2.2 ควรศึกษาเปรียบเทียบความสุขของบุคคลแต่ละอาชีพที่แตกต่างกัน เช่น แพทย์พยาบาล ทหาร ตำรวจ นักการเมือง เป็นต้น และเลือกกลุ่มตัวอย่างในจังหวัดอื่นๆ
2.3 ควรเลือกศึกษาวิจัยกลุ่มตัวอย่างที่ขนาดใหญ่ เช่น ระดับ อำเภอ ระดับจังหวัด ในเรื่องความสุข ทั้งนี้เพื่อการค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ และนำผลการวิจัยมาพัฒนาและปรับปรุงงานวิจัยในครั้งต่อไปให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น                                                                                                                       

เอกสารอ้างอิง
1. กรมสุขภาพจิต  กระทรวงสาธารณสุข. (2552). การศึกษาสุขภาพจิตคนไทย ปี พ.ศ. 2550. พิมพ์ครั้ง ที่ 1.ขอนแก่น: โรงพิมพ์พระธรรมขันต์.
2. ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ และพิริยะ ผลพิรุฬห์.(2550). ความสุขกายสบายใจของคนเมือง. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
3. ประเวศ วะสี. (2548). มรรค 12 สู่ประเทศไทยอยู่เย็นเป็นสุข ถ้าปรารถนาความอยู่เย็นเป็นสุข ก็ต้องใช้ดัชนีวัดความอยู่เย็นเป็นสุข. กรุงเทพฯ: สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ และ  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.
4. พุทธทาสภิกขุ. (2542). ความสุขสามระดับ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.
5. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. (2554). เอกสารเผยแพร่การประชุมวิชาการระดับนานาชาติ  การประชุมวิชาการบริหารการศึกษาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๓๔  และการประชุมวิชาการและแสดงผลงานวิจัยระดับชาติ ครั้งที่ ๓. Retrieved from  http://conference.ssru.ac.th/[21 December 2011]
6. รุจา  ภู่ไพบูลย์. (2541). การพยาบาลครอบครัว : แนวคิดทฤษฎีและการนำไปใช้ .กรุงเทพฯ: โครงการตำราภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.7. ศิริบูรณ์  สายโกสุม. (2550).  วารสารฉบับการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2550. สมาคมสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภก.
8. ศรีวรรณา  พูลสรรพสิทธิ์ และคณะ. (2547). การลดปัญหาสุขภาพจิตไทยของประชาชนไทย  กรณีศึกษาการประเมินผลโครงการสุขภาพใจ ภาคประชาชน ปี 2547.  วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย. ฉบับที่ 1. ปีที่ 13.
9.สมชาย จักรพันธุ์. (2549). การสำรวจความสุขของคนไทย ปี ๒๕๔๘ ในเขตกรุงเทพมหานครและ ภูมิภาค ๑๙ เขตตรวจราชการ. Retrieved from  http://www.nph.go.th/test/happy/ happy.html[1 January 2009]
10.สุรีย์พร  พันพึ่ง.(2550).  ประชากรและสังคม 2550 นคราภิวัฒน์และวิถีชีวิต  เมืองนครปฐม. มปพ.กรุงเทพมหานคร: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
11.สุริยันต์    ชูช่วย.(2548). วิทยานิพนธ์ เรื่อง การแสวงหาความสุขและคุณค่าของชีวิต กรณีศึกษาทัศนะกลุ่มคนต่างวัยในกทม..กรุงเทพมหานคร
12.อภิชัย มงคล และคณะ (2547).  การพัฒนาและทดสอบดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับใหม่.      ขอนแก่น : โรงพิมพ์พระธรรมขันต์.
13.อภิชัย มงคล และคณะ (2551).  การสำรวจความสุขคนไทยปี พ.ศ.2548. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข.
14.อรวรรณ  ลิขิตพรสวรรค์และคณะ. (2553). ปัจจัยทำนายความผาสุกในครอบครัวของพยาบาลสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร. วารสารพยาบาลสาธารณสุข. ปีที่ : 24  ฉบับที่ : 3  หน้า : 1-20  
15.อรุณี อุนหะวรากร. (2549). ความสุขจากการเสียสละ.วิทยานิพนธเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาพัฒนาการเศรษฐกิจ, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
16.Andrews,F.M.,Whithey. (1978). Social indicators of wellbeing. New York: Plenum.
17.Kiwako  Okuma Nystrom. Education, Social sustainability, and gross national happiness:     towards  a  paradigm  shift. Sweden:  Stockholm university. Retrieved from        http://www.gnh- movement.org/papers/okuma.pdf. [1 January 2009]

การเผยแพร่
             รายงานวิจัยฉบับนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในรายงานสืบเนื่องจากการประชุม(Poster Presentation) การประชุมวิชาการระดับนานาชาติ การประชุมวิชาการบริหารการศึกษาสัมพันธ์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 34 การประชุมวิชาการและแสดงผลงานวิจัยระดับชาติ ครั้งที่ 3  เรื่อง "การพัฒนาการศึกษาจากอัตลักษณ์ท้องถิ่นสู่วิถีประชาคมอาเซียน" วันที่ 22-23 มีนาคม 2555 กลุ่มวิชาด้านการศึกษาและนานาชาติ จัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ร่วมกับ สมาคมพัฒนาวิชาชีพ การบริหารการศึกษาแห่งประเทศไทย